กรุงเทพฯ – กทม.เข้ม ตรวจสอบถังดับเพลิงแดงในชุมชนทุกจุด ต้องปลอดภัย สั่งยกเลิกซ้อมดับเพลิง จนกว่าจะตรวจสอบอุปกรณ์ทั้งหมด รื้อระบบเป็นการซ้อมแห้ง พร้อมตั้งกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด
วันที่ 24 มิถุนายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกันชี้แจง ถึงเหตุถังดับเพลิงระเบิด ระหว่างซ้อมแผนดับเพลิง ที่โรงเรียนราชวินิต มัธยม เขตดุสิต ส่งผลให้นักเรียนเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีกหลายราย
โดย รศ.ทวิดา เปิดเผยว่า ตำรวจได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.ทั้งหมดแล้ว ในส่วน กทม.สั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับที่ตำรวจส่งสำนวนมา อีกทั้งยังรอทางพิสูจน์หลักฐานด้วย เพื่อระบุให้แน่ชัดว่า เป็นความผิดในลักษณะไหน ได้มาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่
นอกจากนี้้ ยังสั่งการให้ยุติการซ้อมดับเพลิงทั้งหมด จนกว่าอุปกรณ์ทั้งหมดจะได้รับการตรวจสอบ แต่ถ้าจะมีการฝึกซ้อมกลับมา จะต้องรื้อระบบการฝึกซ้อมทั้งหมด ต่อไปจะเป็นการซ้อมแห้ง ที่ไม่มีการฉีดพ่น เป็นการใช้ถังเปล่าที่ไม่มีการอัดแรงดันใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าซ้อมกับโรงเรียนหรือนักเรียน ที่ต้องการความปลอดภัยสูง ใช้เกณฑ์การเว้นระยะ ไม่อนุญาตให้มีการซ้อมในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม การใช้อุปกรณ์ในการซ้อมต้องได้มาตรฐานและผ่านการตรวจสอบทุกครั้ง ปรับการฝึกซ้อมให้เป็นการให้ความรู้โดยปลอดภัย และจะร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปรับมาตรฐานความปลอดภัยทั้งหมดโดยการใช้มาตรฐานร่วมกัน
ข่าวน่าสนใจ:
รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวต่อว่า สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการซ้อมเมื่อวานนี้ (23 มิ.ย.) ที่เป็นถังคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ไม่ใช่ถังที่อยู่ในชุมชนและสถานที่ราชการที่ติดไว้ แต่เป็นถังที่เก็บไว้ตามสถานีดับเพลิง ซึ่งตอนนี้เรียกเก็บทั้งหมดแล้ว และไม่ให้มีการซ้อมโดยใช้ถังคาร์บอนไดออกไซด์
ทั้งนี้ สัปดาห์หน้า จะเริ่มให้สถานีดับเพลิงทุกสถานี และสำนักงานเขต ร่วมกับประธานชุมชน ลงตรวจพื้นที่ทั้งหมดที่มีถังดับเพลิงที่เป็นถังเคมีแห้งที่มีอยู่ หากเป็นถังเก่า ใช้การไม่ได้ หรือถังที่ประชาชนอาจไม่มั่นใจ จะให้เก็บออกทั้งหมด ส่วนถังที่ได้มาตรฐานและมีการทดสอบ พร้อมเติมสารเคมีให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ โดยออกขั้นตอนการตรวจสอบ ที่เรียกว่า visual inspection คือ การตรวจสอบในเบื้องต้น โดยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ชุมชน ประชาชน และเจ้าหน้าที่ อาทิ การดูเกจวัดค่าความดัน สลัก ความกรอบของสายดับเพลิง ขนาด ความบวมของถัง สนิมที่ถัง ฯลฯ ถ้าพบสามารถแจ้งย้ายถังไปยังสำนักงานเขตพื้นที่ สำหรับประชาชนที่กังวลใจ พบถังดับเพลิงที่มีลักษณะไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งผ่านทาง Traffy Fondue
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า ถังที่ใช้ฝึกซ้อมมีแรงดันสูงมากกว่า 800 PSI ขณะที่ถังทั่วไปที่อยู่ในชุมชน จะเป็นถังเคมีแห้งแรงดัน 190 PSI เรียกได้ว่าข้อแตกต่าง คื อถังแบบเคมีแห้งจะมีเกจ์ที่วัดความดันอยู่ แต่ถังที่ใช้ซ้อมไม่มีเกจ์ จะใช้วิธีวัดน้ำหนักเอา จะมีวาวล์ที่ปล่อยเวลาเกิดความดันสูง ถังที่ซื้อให้สำหรับการฝึกซ้อม ต้องใช้ถังที่ได้มาตรฐาน ต้องตรวจสอบทุก 5 ปี พร้อมสั่งการให้ทำบัญชีถังทั้งหมด ต่อไปจะมีระบบพิกัด GPS แจ้งให้รู้เลยว่า ชุมชนนี้มีถังอยู่ที่ไหนบ้าง แต่ละถังตรวจสอบเมื่อไหร่ จะให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุมชน ร่วมกับอาสาสมัครเทคโนโลยี เริ่มทำแล้วในเขตบางกอกใหญ่
ส่วนเรื่องการเยียวยานั้น ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า ไม่ใช่เงินจำนวนมาก เพราะเป็นไปตามระเบียบ ราว 29,700 บาทสำหรับผู้เสียชีวิต ส่วนผู้ประสบภัย 4,000 บาท เรียกว่าเป็นค่าปลอบขวัญ สำหรับการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครออกให้ทั้งหมด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: