กรุงเทพฯ – อพท. ทำ MOU ยูเนสโก สนับสนุน การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและการพัฒนาท้องถิ่นผ่านมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ตามเส้นทางสายน้ำแห่งอาเซียน (ไทย-ลาว-กัมพูชา)
นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เพื่อร่วมกันดำเนินกิจกรรมสนับสนุน การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและการพัฒนาท้องถิ่นสำหรับมรดกโลก แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ เมืองสร้างสรรค์ จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวในประเทศไทย ผ่านการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ตลอดจนการเสริมสร้างศักยภาพ โดยเน้นดำเนินการในพื้นที่พิเศษ ในความดูแลรับผิดชอบของ อพท. เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินกิจกรรม
การดำเนินการภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืน ผ่านมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ตามเส้นทางสายน้ำแห่งอาเซียน (ไทย-ลาว-กัมพูชา) โดย อพท.รายงานต่อ คณะกรรมการด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Committee) และจะเริ่มดำเนินโครงการในเดือนสิงหาคม 2566 โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนอาเซียน-ตุรกี (ASEAN-Turkey Fund)
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับรูปแบบความร่วมมือ อพท. และยูเนสโก ได้กำหนดวิธีการในการสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงกำหนดขอบเขตความร่วมมืออื่น ๆ เพื่อส่งเสริมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์และความคิดริเริ่มอื่นๆ ที่มีศักยภาพในประเทศไทยในอนาคตร่วมกันด้วย
MOU ดังกล่าว เป็นโครงการสืบเนื่องมาจากความร่วมมือระหว่าง อพท. กับยูเนสโก ในครั้งแรกเมื่อปี 2557 และได้ต่ออายุ MOU ระหว่างกันครั้งที่ 2 ในปี 2562 ซึ่ง อพท. และยูเนสโก ได้รับเงินทุนอาเซียน (ASEAN FUND) ดำเนินโครงการ ‘เครื่องมือการบริหารการจัดการนักท่องเที่ยว’ (Visitor Management Assessment and Strategy Tool – VMAST) โดยการจัด Online workshop ในประเทศไทย (พื้นที่พิเศษของ อพท. และพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม) รวมทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียนและเขตเศรษฐกิจเอเปค ดังนั้น ความร่วมมือในปี 2566 ครั้งนี้ จึงเสมือนเป็นการต่ออายุการดำเนินงาน เพื่อปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: