X

‘อุตุ’ ชี้ ‘แผ่นดินไหวพิษณุโลก’ ไม่ได้เกิดจากรอยเลื่อนมีพลัง

กรุงเทพฯ – กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุ เหตุแผ่นดินไหวพิษณุโลก ขนาด 4.5 อาจเกิดจากรอยเลื่อนที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ ที่มีทิศทางวางตัวตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์

วันที่ 29 มิถุนายน 2566 ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา แถลงข่าว กรณีเกิดแผ่นดินไหว เมื่อเวลา 00.17 น. คืนที่ผ่านมา โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก

เป็นแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 4.5 ความลึก 5 กิโลเมตร โดยได้รับแจ้งความรู้สึกสั่นไหวเป็นบริเวณกว้าง ในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และกำแพงเพชร มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 30 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองพิจิตรประมาณ 15 กิโลเมตร

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ มีจุดศูนย์กลางที่ไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault) ที่สำรวจโดยกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอาจเป็นรอยเลื่อนที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ (Hidden Fault)

ซี่งกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้หากลไกการเกิดแผ่นดินไหว พบว่าแผ่นดินไหวเกิดจาก แนวรอยเลื่อนที่มีทิศทางการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งวางตัวตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวครั้งนี้ เป็นขนาดที่รุนแรงที่สุดที่เคยเกิดบริเวณจังหวัดพิษณุโลก โดยสถิติที่บันทึกไว้ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 ขนาด 2.8 ที่ระดับความลึก 2 กิโลเมตร  หลังจากนั้นเกิด เมื่อปี 2559  2561  2562 ปีละ 1 ครั้ง  ต่อมา ปี 2564 เกิด 2 ครั้ง โดยระดับความรุนแรงอยู่ระหว่าง 1.9-2.4

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวอีกว่า ภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและความรู้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องมีข้อมูลความสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกต้องจ ากระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐาน โดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ทำหน้าที่ในการตรวจและวิเคราะห์แผ่นดินไหวทั้งภายในและต่างประเทศ

โดยมีเครือข่ายสถานีตรวจแผ่นดินไหวแบบอัตโนมัติ สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน สถานีวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และสถานีวัดระดับน้ำทะเล ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อตรวจวัด เฝ้าระวัง และให้บริการข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องภัยแผ่นดินไหวในประเทศอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตลอดจนแจ้งเตือนภัยให้แก่พื้นที่เสียงภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาจะติดตามและรายงานสถานการณ์ต่อไป ขอให้ประชาชนติดตามประกาศอย่างใกล้ชิดได้ทาง
♦ เว็บไซต์ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา earthquake.tmd.go.th
♦ เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ EarthquakeTMD
♦ โทรศัพท์หมายเลข 0 2366 9410, 0 2399 0969, 0 2399 4547
♦ สายด่วน 1182 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"