X

ด่วน! จบปัญหาเก้าอี้ ปธ.สภาฯ ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ เห็นพ้องเสนอชื่อ ‘วันนอร์’

กรุงเทพฯ – พรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ยุติปม ตำแหน่งประธานสภาฯ เสนอชื่อ นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา นั่งเก้าอี้  ส่วนก้าวไกล-เพื่อไทย แบ่งรองประธานสภาฯ  โดยอีก 6 พรรคร่วมสนับสนุน

วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 เวลาประมาณ 20.00 น. ภายหลังรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าว ถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ ถ.เพชรบุรี หลังพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อคนกลาง คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ ชิงตำแหน่ง

โดยนายพิธา แถลงข้อตกลงร่วมระหว่าง พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เรื่อง ตําแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า ตามที่พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ ได้ประชุมหารือร่วมกันกรณีตําแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฏร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมอบหมายให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ไปเจรจาตกลงร่วมกันนั้น
บัดนี้ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้ตกลงร่วมกัน ดังนี้

1.เสนอชื่อ นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาคนที่ 2 โดยพรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ พร้อมให้การสนับสนุนตามข้อตกลงนี้

2.บุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็น ประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมผลักดันวาระที่ทําให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน

3.ข้อตกลงเรื่องตําแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฏรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ ระหว่าง 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เสนอและสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างสุดความสามารถ โดยดําเนินการตามข้อตกลง MOU ที่ได้แถลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566

4.พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสําคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่
ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ

พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เชื่อมั่นว่าข้อตกลงเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริมต้นของการทํางานร่วมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเข้าไปบริหารประเทศ ตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนได้แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

ประวัติ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา
เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2487 ที่จังหวัดยะลา จบปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท ครุศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี2517

เริ่มต้นชีวิตการทำงาน ด้วยการรับราชการครู และได้รับตำแหน่งเป็นครูใหญ่ โรงเรียนอัตตรกียะห์ อิสลามมียะห์ จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่อายุเพียง 20 ปี กระทั่งปี 2521 ได้รับตำแหน่งรองอธิการบดี วิทยาลัยครูสงขลา

ต่อมา ทำงานการเมือง สังกัดพรรคกิจสังคม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและแกนนำ ‘กลุ่มวาดะห์’ เข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และย้ายไปอยู่อีกหลายพรรค และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากคดียุบพรรคไทยรักไทย ปี 2549 เป็นสมชิกสภาผู้แทนราษฎร หลายสมัย ตั้งแต่ พ.ศ.2522 และรัฐมนตรีหลายกระทรวง รวมถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ปี 2539


 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"