X

จ.ศรีสะเกษ-กฟผ. Kick Off ปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม คืนความสมบูรณ์ระบบนิเวศ

ศรีสะเกษ – เพิ่มพื้นที่สีเขียวอีสาน จังหวัด จับมือ กฟผ. หน่วยราชการ ปลูกป่าเพิ่ม ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ประเทศไทย ในโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม หวังสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

นายนพ พงศ์ผลาดิสัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และนายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ สื่อมวลชน และนักเรียน กว่า 200 คน ร่วมปลูกป่านำร่องในจังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม สนับสนุนนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของ กฟผ. (EGAT Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 ณ โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566

นายนพ พงศ์ผลาดิสัย รองผู้ว่าฯ จ.ศรีสะเกษ ระบุว่า โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ สร้างประโยชน์จากการดูดซับกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งยังช่วยส่งเสริมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจ สังคมของคนในชุมชน โดยกิจกรรมปลูกป่าในครั้งนี้นับเป็นการเริ่มต้นปลูกป่านำร่องในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และจะขยายผลไปในหลายพื้นที่เพื่อสร้างคุณภาพอากาศที่ดีให้กับชาวศรีสะเกษต่อไป

ด้านนายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ดำเนินนโยบาย EGAT Carbon Neutrality ภายในปีค.ศ. 2050 เพื่อสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน จัดการคุณภาพอากาศ เพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นการเชิญชวนให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ เพิ่มความชุ่มชื่นให้กับประเทศไทย สำหรับโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งดำเนินการแบบปลูกป่าแบบบูรณาการร่วมกับโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ประกอบไปด้วยพรรณไม้จำนวนกว่า 500 ต้น อาทิ ต้นลำดวน ต้นยางนา ต้นเหลืองปรีดียาธร ต้นตะแบก ต้นทองอุไร และต้นกัลปพฤกษ์ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.5 ไร่

“กฟผ. มีแผนในการปลูกป่าปีละ 1 แสนไร่ ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ และป่าชายเลน รวมจำนวน 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2565-2574 สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 1.2 ล้านตันต่อปี และคาดว่าตลอดระยะเวลาโครงการฯ จะดูดซับกักเก็บคาร์บอนได้ทั้งสิ้นประมาณ 23.6 ล้านตัน” รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าว

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"