กรุงเทพฯ – เลขาธิการพรรคก้าวไกล ยืนยัน เดินหน้าขอเสียงหนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพิ่ม เผย พรรคเพื่อไทยไม่ขัดข้อง ยื่นแก้มาตรา 272 ชี้ เพื่อไทย-ก้าวไกล ต้องจับมือกันให้แน่น
วันที่ 15 กรกฎาคม นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค ก้าวไกล เปิดเผยผลการหารือร่วมกับพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ว่า พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ต่อที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ อีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีการหารือกันหลายเรื่อง รวมถึงวิธีการที่จะทำให้ได้เสียงสนับสนุนมากขึ้น ในการประชุมครั้งต่อไป และกระแสข่าว จะมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐ เพื่อแข่งกับนายพิธา ซึ่งเป็นภารกิจของ 8 พรรค โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ที่จะจับมือกันให้แน่น เพื่อไม่ให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ได้มีการตกลงกันว่า จะมีการนัดประชุมพรรคร่วม 8 พรรค ในเช้าวันอังคารที่ 18 กรกฎาคมนี้ ซึ่งตอนนี้กำลังประสานงานกัน
ส่วนพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 หรือไม่ นายชัยธวัช ระบุว่า เพื่อไทยไม่ได้ขัดข้อง เพราะเคยผลักดันเรื่องนี้กันมาหลายครั้งในสภาฯ ซึ่งเป็นข้อเสนอทางเลือก ที่คู่ขนานกันไปกับกระบวนการเลือกนายกฯ เพราะไม่รู้ว่าต้องเลือกนายกฯ อีกกี่ครั้ง หาก ส.ว.ไม่ประสงค์ใช้สิทธิ์ งดออกเสียง หรือไม่เข้าร่วมประชุม แบบนี้จะนำมาสู่ทางตันทางการเมือง จึงเสนอทางออกให้ด้วยการปิดสวิตซ์ ส.ว. ถ้าสามารถนัดประชุมสภาฯได้เร็ว ก็ใช้เวลาเพียง 3-4 สัปดาห์ ก็แล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่ได้พูดคุยกัน ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีถือครองหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ในสัปดาห์หน้า จะกระทบการโหวตนายกฯ หรือไม่ เพราะเข้าใจดีอยู่แล้วว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน ต้องถือหลักสันนิษฐานไปก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด
เมื่อถามถึงกรณี นางทัศนา ยุวานนท์ ส.ว. ระบุว่า สาเหตุที่งดออกเสียงให้นายพิธา เพราะไม่อยากส่งคนที่มีตำหนิไปถึงกระบวนการลงพระปรมาภิไธย เลขาธิการพรรคก้าวไกล ชี้ว่า เป็นความพยายามเชื่อมโยงที่ไม่เหมาะสม การกระทำใด ๆ ในทางการเมือง มีผู้รับผิดชอบหรือมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงไม่เกี่ยว เพราะในอดีตที่ผ่านมา ก็มีผู้ที่มีตำหนิ หรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วถูกตรวจสอบในภายหลัง ว่าไม่มีความเหมาะสม บกพร่อง ทุจริต คอร์รัปชั่น หรือขาดคุณสมบัติ ซึ่งเป็นเรื่องกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลย์ในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเกี่ยวในเรื่องนี้ แต่ทรงใช้อำนาจโปรดเกล้าฯ ในฐานะประมุขของรัฐ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ควรไปผูกโยง ไม่เหมาะสมที่จะพูด
สำหรับกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ระบุว่า พร้อมร่วมงานกับทุกพรรค ขอแค่ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถือเป็นสัญญาณการแตกแถวของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปตีความขนาดนั้น 8 พรรคคงต้องพูดคุยกันเรื่อย ๆ ประเมินสถานการณ์เป็นระยะ อาจจะมีข้อเสนอใหม่ ๆ เข้ามา เพื่อให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลได้จริง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: