กรุงเทพฯ – กทม.ชี้แจงปมทางเข้า-ออก โครงการแอชตันอโศก พร้อมขยายเวลา ถ้าปรับปรุงแก้ไขปัญหาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ไม่ทันกำหนดภายใน 30 วัน
วันที่ 3 สิงหาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงแนวทางการดำเนินการ อาคารชุดแอชตัน อโศก หลังศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาสั่งเพิกถอนใบรับแจ้งเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารโครงการฯทุกฉบับ โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือ
นายวิศณุ ระบุว่า โครงการแอชตัน อโศก แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ เรื่องการยื่นแจ้งเพื่อขออนุญาตก่อสร้าง กับเรื่องการขอใบรับรองดัดแปลงอาคาร โดยบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เจ้าของโครงการ ยื่นแจ้งครั้งแรกเมื่อปี 2558 ซึ่ง กทม.มีหนังสือทักท้วงไป และมีการยื่นต่อมาอีกรวม 3 ครั้ง
กระทั่ง มีการฟ้องเป็นคดีกัน ตั้งแต่ปี 58 และหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะต้องมีการยื่นขอเปิดอาคาร บริษัทฯ ได้ยื่นขอมา เมื่อปี 60 ซึ่ง กทม.ได้ทักท้วงไป เนื่องจากยังมีคดีเรื่องทางเข้า-ออก ไม่ได้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยแอชตันยื่นอุทธรณ์กรรมการควบคุมอาคาร จนกรรมการอุทธรณ์ พิจารณาเห็นว่า กทม.ควรออกใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯให้ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร จึงออกใบรับแจ้งฯ ให้แบบมีเงื่อนไข
ข่าวน่าสนใจ:
- ผู้ว่าตรังสั่งซ่อมด่วนหลังคาท่าเรือปากเมง หวั่นอันตรายนทท. กระทบภาพลักษณ์จว. ลั่นพร้อมออกเงินส่วนตัว 2.3 หมื่นค่าวัสดุ…
- สมเด็จพระสังฆราช โปรดประทานผ้าพระกฐินทอดถวาย ณ วัดเขาไกรลาศ หัวหิน
- ทุกข์ชาวสวน คนร้ายขโมยตัดปาล์มไม่หยุด หลังปาล์มราคาดี คุณตาวอนลานเทปาล์มอย่ารับซื้อของโจร
- เปิดฉาก! สีฐานเฟสติวัล 2024 ลอยกระทงปีนี้ที่ มข.แบบ “วิถีแห่งอีสาน สีฐานมูเตลู”
โดยระบุว่า เรื่องที่ดินที่ตั้งโครงการซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ที่มีผู้ฟ้องคดีกรณีโครงการใช้ที่ดินของ รฟม. ผ่านเข้า-ออกนั้น หากศาลมีคำพิพากษาสิ้นสุดแล้ว ผลพิจารณาทำให้อาคารดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย ผู้ได้ใบรับรองจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตนเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งต้องดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารต่อไป
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า กฎหมายมาตรา 41 ระบุชัดถึงเจตนารมณ์ว่า สามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ โดยให้ระยะเวลา 30 วัน ซึ่ง กทม.จะต้องเชิญ บริษัท อนันดา เจ้าของโครงการ และผู้เกี่ยวข้องมาร่วมหารือว่าสามารถปรับปรุงและแก้ไขตามที่กฎหมายกำหนดได้หรือไม่ หากไม่ได้ กทม.อาจจะขยายระยะเวลาให้ได้ตามเหตุอันสมควร และขอยืนยันว่า กทม.ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่เอกชน แต่เป็นการดำเนินการตามคำพิพากษา ซึ่งลูกบ้านไม่ต้องกังวล เพราะไม่มีแนวคิด ว่าต้องทุบอาคารทิ้ง และคำพิพากษาของศาล ตัดสินให้เพิกถอนใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯ ไม่ใช่การรื้อถอน ดั้งนั้น กทม.จึงต้องให้โอกาสในการยื่นขอใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯ ใหม่ เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางเข้า-ออกอาคารที่เป็นปัญหา ยังเปิดใช้การได้ตามปกติ กทม.จะเร่งดำเนินการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด แต่ก็ไม่ใช่กรณีเร่งด่วนอย่างความปลอดภัยของตัวอาคาร ทั้งนี้ จะต้องตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างรอบคอบ เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 500 ราย และเป็นความรับผิดชอบของผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารที่ต้องแก้ไขปัญหา
ภายในสัปดาห์นี้ จะทำหนังสือถึงเจ้าของโครงการ เพื่อรับทราบแนวทางในการแก้ปัญหา แล้วจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลจาก รฟม. เพื่อถอดบทเรียนถึงปัญหา กระบวนการแก้ไข เพื่อนำข้อมูลไปพิจารณาปรับปรุงแนวทางในการอนุญาตก่อสร้างอาคารต่อไป
รองผู้ว่าฯ วิศณุ เสริมว่า จะออกหนังสือถึงบริษัทอนันดา ให้ปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ภายใน 30 วัน แต่ถ้าไม่สามารถแก้ไขได้ บริษัทฯ สามารถยื่นขอขยายเวลาได้ โดย กทม.จะพิจารณาประเมินเหตุผล ว่า สมควรขยายเวลาให้หรือไม่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
ระหว่างการแถลงของผู้บริหาร กทม. มีเจ้าของร่วม (ลูกบ้าน) โครงการคอนโดฯ แอชตัน อโศก ร่วมรับฟังด้วย หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าว ได้ส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากนายชัชชาติ ซึ่งนายชัชชาติ ระบุว่า จะดูแลทุกฝ่าย ไม่ต้องกังวล
ขณะที่ตัวแทนเจ้าของร่วม ยืนยันต่อสื่อมวลชน ว่า ไม่เคยทราบมาว่า จะมีปัญหาทางเข้า-ออก กระทั่งมีคำพิพากษาของศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเจ้าของโครงการไม่เคยชี้แจงอะไร
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: