กรุงเทพฯ – กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เกาะติดสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ พบพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคเหนือและอีสาน ส่วนพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งมีทั่วประเทศ เตือน อย่าประมาท ต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี
นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงการประชุมประเมินสถานการณ์น้ำ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน ฯลฯ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.66 ว่า
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณชายขอบประเทศ พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก หลายพื้นที่จนประสบสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง แต่ปริมาณฝนในภาพรวมทั้งประเทศ ยังคงน้อยกว่าค่าปกติ 18 % ที่ประชุม ยังคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้า 7 วัน (11-17 ส.ค.66) พบว่า จะเกิดร่องความกดอากาศต่ำเหนือประเทศไทยบริเวณประเทศจีนตอนใต้และเหนือประเทศเวียดนาม ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปริมาณน้ำฝนในช่วง 2 วันนี้ จะยังไม่มากนัก แต่จะหนักขึ้นในช่วงวันที่ 11-13 ส.ค.
ข่าวน่าสนใจ:
- สื่อมาเลย์เผย รัฐบาลไทยยังคง 'เงียบ' บีอาร์เอ็น ปั่นป่วนเพราะความโง่เขลาของตัวเอง
- นครพนมคึกคัก! เปิดศึกเลือกตั้ง อบจ. วันแรก “ศุภพานี-ประสงค์” ชิงชัย พร้อมนโยบายพัฒนาท้องถิ่น
- ชัยภูมิชาวโนนทองสืบสานประเพณีนอนลานตีข้าวเปิดลานศูนย์รวมสุดยอดสินค้าอาหารพื้นบ้านไทยส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 68 คึกคักกว่าทุกปี!
- นำทีมบ้านใหญ่ “ธรรมเพชร” ลงสมัคร นายก อบจ.พัทลุงอีกสมัย ด้าน “ สาโรจน์” คู่ชิงชัยคนสำคัญจะลงสมัครในวัดสุดท้าย
นอกจากนี้ ยังได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 7 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ ตาก น่าน จันทบุรี ตราด พังงา และ จ.ระนอง ซึ่ง กอนช.จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจะประกาศแจ้งเตือนในทันที และกำชับหน่วยงานให้เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยขอให้ดำเนินการตาม 12 มาตรการ รับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด
ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ฝนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลดีช่วยเติมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยภาพรวมทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำเติมอ่างสะสม 2,028 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ สูงสุดที่เขื่อนวชิราลงกรณ์ 789 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่สถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำทั้งประเทศ 42,720 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52 % คิดเป็นปริมาณน้ำใช้การ 18,616 ล้าน ลบ.ม. หรือ 32 % ซึ่งยังสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้อีกมาก โดยมีแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์หรือน้ำน้อย แบ่งเป็น ภาคเหนือ 6 แห่ง และภาคตะวันตก 1 แห่ง
นายฐนโรจน์ เปิดเผยอีกว่า กอนช.ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง จากปรากฎการณ์เอลนีโญ ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งรวม 17 จังหวัด 43 อำเภอ โดย 5 อันดับแรกได้แก่ จ.นครราชสีมา อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ชัยนาท และอุทัยธานี ซึ่งเลขาธิการ สทนช.สั่งการให้ สทนช.ภาค 1-4 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แล้งที่เกิดในช่วงฤดูฝน ที่พบว่ามีหลายพื้นที่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำและเสี่ยงเกิดภัยแล้ง เพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนชุมชน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหา
กอนช.ยังคงเน้นความสำคัญ เรื่องการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยการวางแผนบริหารจัดการน้ำ 2 ปี การรณรงค์ให้ประหยัดน้ำทุกภาคส่วน รวมถึงการส่งเสริมการปลูกข้าวรอบเดียว และปลูกพืชใช้น้ำน้อยให้มากขึ้น เพื่อสงวนปริมาณน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: