ลำปาง – กฟผ. ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เปิดตลาดจำหน่ายฮิวมิค วัตถุพลอยได้จากการทำเหมืองแม่เมาะ สนับสนุนเกษตรกรเข้าถึงผลิตภัณฑ์ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดค่าใช้จ่าย สร้างความยั่งยืนในภาคเกษตรกรรม
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมคณะผู้บริหาร กฟผ. ร่วมพิธีส่งมอบวัตถุพลอยได้ จากการทำเหมืองแม่เมาะ (ฮิวมิค) ให้แก่ผู้ซื้อ พร้อมให้ข้อมูลคุณสมบัติเชิงลึกและประโยชน์ของ ‘ฮิวมิค’ เพื่อสนับสนุนชุมชนและเกษตรกรให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ฮิวมิคในราคาย่อมเยา ณ กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร เปิดเผยว่า การทำเหมือง กฟผ. แม่เมาะ จำเป็นต้องเปิดหน้าดินที่ปิดทับถ่านหินลิกไนต์ออก และนำไปทิ้งยังพื้นที่ที่กำหนดไว้ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า หน้าดินดังกล่าวมีชั้นลีโอนาร์ไดต์ (Leonardite) ซึ่งเป็นชั้นดินที่มีอินทรีย์วัตถุสำคัญแทรกอยู่ คือสารประกอบฮิวมิค (กรดฮิวมิค กรดฟูลวิค และฮิวมิน) สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรกรรมได้หลากหลาย เช่น ใช้ปรับปรุงดินที่เสื่อมสภาพให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูก
กฟผ. ได้ศึกษาวิจัยกระบวนการคัดแยกสิ่งเจือปนออกจากลีโอนาร์ไดต์ เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ฮิวมิคแบบน้ำเป็นผลพลอยได้ (By Product) ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ โดยเฉพาะอินทรียวัตถุที่มีปริมาณสูง มีธาตุอาหารจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชหลายชนิด นอกจากนี้ จากการวิจัยพบว่า ปริมาณธาตุโลหะหนักทุกชนิดมีค่าดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน สามารถใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุปรับปรุงดิน การบำบัดน้ำเสีย หรือใช้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวอีกว่า กฟผ. ได้ทดลองตลาดจำหน่าย ‘ฮิวมิค’ แบบน้ำครั้งแรก กว่า 10,000 ลิตร ในราคาลิตรละ 25 บาท ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก เกินกว่าปริมาณที่ กฟผ. เสนอขาย การเปิดขายในรอบแรกนี้ได้จัดสรรให้แก่ผู้ซื้อจำนวน 26 ราย โดย กฟผ. ได้ทยอยส่งมอบตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2566 เป็นต้นมา ทั้งนี้ กฟผ. แม่เมาะ ได้ตั้งโรงงานต้นแบบสำหรับผลิตฮิวมิคแบบน้ำ ความเข้มข้น 3-5% มีขนาดกำลังผลิตประมาณ 32,000 ลิตรต่อเดือน และยังมีศักยภาพที่จะขยายกำลังผลิตได้มากกว่า 100,000 ลิตรต่อเดือน
การผลิต ‘ฮิวมิค’ ถือเป็นการใช้วัตถุพลอยได้หรือของที่ต้องทิ้งจากการทำเหมืองให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าได้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จำหน่ายในราคาย่อมเยาเมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายทั่วไปในท้องตลาด สอดรับกับปริมาณความต้องการใช้งานฮิวมิคทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละมากกว่า 10% ขณะที่ประเทศไทยมีการนำฮิวมิคมาใช้อย่างแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น จึงถือเป็นการช่วยเหลือชุมชน เกษตรกร ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มผลผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการทำเกษตรกรรมลงได้มาก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: