กรุงเทพฯ – ที่ประชุม ส.ส.พรรคก้าวไกล มีมติเอกฉันท์ ไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ชี้ ไม่ใช่การปิดสวิตช์ ส.ว. เชื่อ การเมืองที่เกรงใจผู้มีอำนาจทุกฝ่าย ยกเว้นประชาชน ไม่สามารถผลักดันวาระก้าวหน้า และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้จริง
วันที่ 15 สิงหาคม 2566 นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ที่ประชุม ส.ส.พรรคก้าวไกล มีมติจะไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของรัฐบาลผสมข้ามขั้ว เพราะพรรคก้าวไกลต้องการแสดงท่าทีว่า “ไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลในลักษณะที่เกิดขึ้น” ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
1.การจัดตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้น ขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชน ที่แสดงออกอย่างชัดเจนใน วันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566
2.การให้ ส.ส.พรรคก้าวไกล โหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ของรัฐบาลที่กำลังจัดตั้งอยู่นี้ ไม่ใช่การปิดสวิตช์ ส.ว. แต่เป็นการเดินตามความต้องการ ส.ว.ในการบิดเบือนผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า ที่ผ่านมา ส.ว.จำนวนมาก และพรรคขั้วรัฐบาลเดิมต้องการปิดสวิตช์ก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้ง
3.การจัดตั้งรัฐบาลแบบนี้ คือ การจัดตั้งรัฐบาลที่เกรงใจผู้มีอำนาจทุกฝ่าย ยกเว้นเกรงใจประชาชน จะไม่สามารถผลักดันวาระที่ก้าวหน้า และทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า ยังไม่ได้คุยกันชัดเจนว่า จะโหวตอย่างไร จะงดออกเสียงหรือไม่เห็นชอบ ขอดูรายละเอียดความชัดเจน ของรัฐบาลที่กำลังจัดตั้งเพื่อพิจารณา เช่น องค์ประกอบเป็นอย่างไร ซึ่งไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกฯ คนใดคนหนึ่ง เพราะเรื่องคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกฯ หรือนโยบายของพรรคที่ชนะการเลือกตั้งนั้น ประชาชนเป็นคนลงมติมาแล้ว เรายืนยันหลักการนี้
“เราไม่เชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลในสภาพการณ์แบบนี้ คือ เกรงใจผู้มีอำนาจทุกฝ่ายยกเว้นประชาชน จะสามารถผลักดันวาระของประชาชนที่ก้าวหน้าได้จริง ๆ ดังนั้น ต่อให้มีการรับปากตกลงอะไรกัน ก็จะไม่เป็นผลในการปฏิบัติในอนาคต ส่วนเรื่องใดที่พรรคก้าวไกลเสนอไป หากในอนาคตเราเป็นฝ่ายค้าน ถ้าพี่น้องประชาชนสนับสนุนอย่างชัดเจน ก็เชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ มีโอกาสสนับสนุนข้อเสนอของเราอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีการทำข้อตกลงอะไร” นายชัยธวัช กล่าว
ส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ (นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์) ซ้ำ นั้น เป็นคนละประเด็น พรรคก้าวไกลเห็นด้วยอยู่แล้ว กับการเสนอชื่อซ้ำได้ เป็นหลักการที่ควรจะเป็น ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเรื่องนี้ พรรคก้าวไกลก็จะเสนอญัตติให้ทบทวนมติเดิมของรัฐสภา และไม่เห็นด้วย ที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย ว่า รัฐสภาจะทำอะไรได้หรือไม่ได้
แต่ยืนยันจะไม่เสนอชื่อ นายพิธา ลงแข่ง ในการโหวตนายกฯ ครั้งต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: