กรุงเทพฯ – พรรคก้าวไกล ยืนยัน จะยังเสนอญัตติทบทวนมติรัฐสภา กรณีโหวตนายกรัฐมนตรี ต่อไป ย้ำ สภาควรแก้ไขกันเองได้ ทำเรื่องที่ถูกต้องให้เป็นบรรทัดฐาน ไม่ต้องพึ่งองค์กรภายนอก
วันที่ 16 สิงหาคม 2566 ที่รัฐสภา ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบสอง เนื่องจากผู้ร้องเรียนไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้พิจารณาในเนื้อหาสาระข้อเท็จจริง แต่ยกเรื่องเทคนิคกระบวนการมาเป็นเหตุผลพรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอดว่า กรณีเช่นนี้ สภาควรแก้ไขปัญหากันเองได้ ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรภายนอกอย่างศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา อะไรก็ตามที่ทำไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดไป สภามีอำนาจแก้ไขปรับปรุง จึงเป็นที่มา ที่ทำให้พรรคก้าวไกลเสนอญัตติเพื่อให้สภาทบทวน ว่าการที่สภาเคยมีมติว่าญัตติที่เสนอ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล ซ้ำ ไม่สามารถทำได้นั้น เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องทางกฎหมาย
ดังนั้น ในโอกาสที่จะมีการเลือกนายกฯ ครั้งต่อไป พรรคก้าวไกลขอยืนยันจะเสนอญัตตินี้อีก และหวังว่ากระบวนการนี้จะทำให้สภาได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยยืนยันไม่ใช่การตีรวนทางการเมือง
ข่าวน่าสนใจ:
“สถานะแคนดิเดตนายกฯ เป็นสถานะตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พอเสนอกันไปแล้วไม่ผ่านในรอบแรก จะบอกว่าสถานะนั้นไม่มีอีกแล้ว การพิจารณาแบบนี้เป็นการเล่นการเมืองโดยไม่พิจารณาอยู่บนข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย พรรคก้าวไกลยืนยันว่า การพิจารณาแคนดิเดตนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นใคร หากรอบนี้ไม่ผ่าน รอบต่อไปก็เสนอได้” นายรังสิมันต์กล่าว
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ นายพิธาจะยื่นคำร้องเองในฐานะบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ไม่ยื่นแน่นอน แม้พรรคก้าวไกลจะเป็นเป้าของการไม่ให้เสนอนายกฯ ซ้ำ แต่ยืนยันมาตลอดว่า เรื่องนี้เป็นกิจการของสภา จึงต้องการใช้กลไกของสภาในการทำสิ่งที่ถูกต้อง
“เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักการ ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง หรือเพื่อให้ นายพิธากลับมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกครั้ง ไม่ว่าแคนดิเดตเป็นใคร จะได้ประโยชน์จากข้อเสนอของพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น เว้นเสียแต่บางกลุ่มบางพวกต้องการวางหมากให้การเสนอนายกฯ เกิดขึ้นได้ครั้งเดียว ซึ่งไม่ใช่เจตนาที่ดีแน่ ๆ โดยอาจแบ่งเป็น 2 กรณี หนึ่งคือเพื่อให้พรรคก้าวไกลไม่ผ่านหรือ พรรคการเมืองบางพรรคไม่ผ่าน แล้วหวังว่าตัวเองจะได้ประโยชน์ และสอง เป็นการปูทางไปสู่นายกฯ คนนอก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย”
นายรังสิมันต์ ยอมรับว่า สถานะของญัตติดังกล่าวมีปัญหา เพราะแม้ตามกระบวนการมีผู้รับรองถูกต้อง และไม่มีอำนาจในข้อบังคับฯ ที่ให้ประธานวินิจฉัย ซึ่งประธานชี้แจงว่าให้รอศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่มีข้อกฎหมายเช่นกันว่า ระหว่างที่รอจะทบทวนไม่ได้ ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าเป็นเจตนาดีของประธานรัฐสภา ที่ต้องการให้กระบวนการมีความชัดเจนก่อนแต่หากพิจารณาด้วยเหตุผล หากเรื่องนี้กลายเป็นบรรทัดฐาน หากรอต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีความชัดเจน จะสร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง เพราะการเสนอชื่อบุคคลในรัฐสภานั้นไม่ได้มีแค่ตำแหน่งนายกฯ และหากเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำไม่ได้อาจทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน ทำลายประชาธิปไตยทำลายการเมืองแบบรัฐสภา ทำลายความหวังของพี่น้องประชาชน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: