กรุงเทพฯ – แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ยอมรับ ‘นช.ทักษิณ’ อยู่ชั้นวีไอพีจริง แต่ห้องไม่หรูและแอร์ไม่เย็น ไม่ใส่เครื่องพันธนาการเพราะอายุมาก ส่วนการย้าย รพ. ญาติต้องขอกรมราชทัณฑ์ แต่ต้องเกินขีดความสามารถของ รพ.ตร.
วันพุธ ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2566 พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยอาการล่าสุดของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า จากการสอบถามทีมแพทย์ที่รักษา นายทักษิณอาการดีขึ้นเล็กน้อยกว่าเมื่อคืนที่ผ่านมา แต่ยังต้องใส่สายออกซิเจน ความดันโลหิตยังสูงอยู่ สามารถสื่อสารได้ แต่ยังมีอาการเหนื่อยหอบ แพทย์ต้องฝ้าระวัง โดยสั่งงดเยี่ยมทุกกรณี
ทั้งนี้ นายทักษิณเกิดอาการแน่นหน้าอกกะทันหัน ค่าออกซิเจนต่ำ และค่าความดันโลหิตสูงมากถึง 170 มิลลิเมตรปรอท กรมราชทัณฑ์จึงนำตัวส่งมารักษาอย่างเร่งด่วน หลังทีมแพทย์ราชทัณฑ์พยายามรักษาระดับความดันที่สูงแล้ว แต่ทำได้ไม่มาก เพราะอาการของนายทักษิณ ต้องการแพทย์เฉพาะทางดูแล ประกอบกับเครื่องมือที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์มีจำกัด
เมื่อมาถึง เจ้าหน้าที่นำตัวนายทักษิณ ไปที่ชั้น 14 ทันที ห้องพักของนายทักษิณ ไม่ได้อยู่ฝั่งที่มองเห็นทัศนียภาพภายนอก เนื่องจากฝั่งดังกล่าวติดกระจก อากาศร้อน
และปัจจุบันเครื่องปรับอากาศใช้งานไม่ได้ ต้องใช้พัดลม 2 ตัวระบายอากาศแทน
ข่าวน่าสนใจ:
นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยอีกว่า แพทย์รักษานายทักษิณ ด้วยการให้น้ำเกลือ พร้อมระดมทีมแพทย์ตั้งเป็นคณะรักษารวม 6 คน มีแพทย์เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ปอด และโควิด19 อยู่ด้วย ทีมแพทย์อยู่ในขั้นตอนนำประวัติการรักษาของนายทักษิณ ที่ต่างประเทศมาศึกษา แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ บอกได้แต่ว่ารักษามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะรักษาอาการนานเท่าไหร่ ไม่สามารถตอบได้ ทีมแพทย์จะเป็นผู้ประเมินต่อไป ขณะที่การย้ายไปรักษาโรงพยาบาลเอกชนนั้น ญาติต้องร้องขอไปทางกรมราชทัณฑ์ แต่ต้องเป็นโรคที่เกินขีดความสามารถของ รพ.ตำรวจ
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การรักษาผู้ป่วยสูงอายุ ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติตามกระแสสังคม เพราะก่อนหน้านี้มีการส่งผู้ป่วยอายุมากมารักษาเช่นกัน และนายทักษิณ ไม่ได้ใส่เครื่องพันธนาการ เนื่องจากตามกฎหมาย ผู้ป่วยต้องโทษที่มีอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ไม่ต้องใส่เครื่องพันธนาการ เพราะจะทำให้การรักษาเกิดความยุ่งยาก
สำหรับการรักษาความปลอดภัยระหว่างรักษานั้น มีเจ้าที่กรมราชทัณฑ์คอยดูแล 3 คน แต่ในพื้นที่ของโรงพยาบาล เป็นพื้นที่ของสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันดูแล
กรมราชทัณฑ์ กับ โรงพยาบาลตำรวจ มีข้อบันทึกร่วมกันมากว่า 30 ปีแล้ว ในการส่งตัวผู้ป่วยที่มีอาการหนักมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: