กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธรัฐบาลมีปัญหากระแสเงินสด ประกาศ เตรียมแผนระยะยาวขึ้นเงินเดือน พร้อมเปิดทางข้าราชการ จะรับเงินเดือน 2 งวด หรือแบบเดิม ชี้ แบ่งจ่ายหนี้ได้
วันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ นโยบายแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการออกเป็น 2 งวด ว่า การแบ่งจ่าย 2 หน เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระคนที่มีหนี้สิน สามารถไปจ่ายหนี้สินคืนได้เร็วขึ้น คนที่เป็นหนี้ ถ้าจะหักก็หักแบ่งจ่ายเป็น 2 งวดก็ได้ สามารถจัดการได้
แต่ที่บอกว่า รัฐบาลมีปัญหากระแสเงินสดนั้น ไม่ใช่ เราจ่ายเร็วขึ้นเป็นวันที่ 15 และปลายเดือน ถ้าใครไม่มีหนี้ ก็นำเงินไปทำประโยชน์ได้ ไปลงทุนได้ ไปฝากธนาคารได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ให้เป็นทางเลือก มีแต่เสมอตัวกับดีขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เข้าใจว่าการเสนอทางเลือกใหม่ มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แต่รัฐบาลบริหารจัดการประเทศโดยมีขีดงบประมาณจำกัด คำนึงทุกมิติของการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อะไรที่ไม่เป็นภาระงบประมาณ เพราะตรงนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เป็นเพียงการทำโปรแกรมใหม่เท่านั้น ว่าจะจ่ายเงินเมื่อไหร่ อย่างไร และคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง
ข่าวน่าสนใจ:
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า อาจมีข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เพิ่งเข้ามา ที่จะมีปัญหาภาระทางการเงิน หากต้องแบ่งจ่าย ชักหน้าไม่ถึงหลังเท่านั้นเอง ซึ่งกรมบัญชีกลางจะทำทางเลือกว่า จะเอาแบบไหน ขอให้จเย็นกันนิด และหวังว่าบริษัทแต่ละบริษัทน่าจะลองนำไปใช้เป็นทางเลือก
“เป็นทางเลือกที่ดี ใครไม่ชอบก็ใช้ให้จ่ายหนเดียว ใครชอบก็จ่ายสองหน มีแต่ดีขึ้นกับเสมอตัว ถ้าไม่ชอบก็เอาแบบเก่า บางคนอยากได้จ่าย 2 หน ก็สามารถทำได้ เรื่องหนี้ครูก็สามารถแบ่งจ่ายงวดได้เช่นกัน สามารถพูดคุยกันได้ สถาบันทางการเงินต่าง ๆ ก็ต้องการเพียงหนี้คืน เรื่องเหล่านี้ผมเชื่อว่า ทุกคนทราบดีว่า ประชาชนประสบปัญหาเศรษฐกิจ กระแสเงินสด เราคิดมาให้ เราทำมาให้ ส่วนการดูเรื่องผลตอบแทนที่สูงขึ้นเป็นแผนระยะยาว เพราะต้องดูองค์รวมทั้งหมด ของจำนวนข้าราชการที่เกษียณที่เข้ามาใหม่อย่างไร ถ้าเกิดพร้อมก็จะแถลงอีกครั้งหนึ่ง ไม่ต้องห่วงเรื่องของปากท้องข้าราชการ ทุกภาคส่วนอยู่ในใจคณะรัฐมนตรีนี้อยู่แล้ว” นายเศรษฐา กล่าว
ส่วนท้อใจใช่หรือไม่ หลังจากโดนต่อว่า นายเศรษฐา กล่าวว่า คนชมก็มีเยอะ แต่ก็อย่างว่า ต้องฟังทุกเสียงทั้งติและทั้งชม เป็นบุคคลสาธารณะ เสียงบางเสียงมีประโยชน์ ขอให้ติอย่างสร้างสรรค์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: