X

ฉบับเต็ม คำพิพากษาศาลฎีกา เพิกถอนสิทธิการเมือง ‘ช่อ-พรรณิการ์’ ตลอดชีวิต

กรุงเทพฯ – ศาลฎีกา สั่งเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง และการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตลอดชีวิต ‘พรรณิการ์ วานิช’ ปมฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง โพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์    

วันที่ 20 กันยายน 2566 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ คมจ.1/2565 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ผู้ร้อง กับ น.ส.พรรณิการ์ (ช่อ) วานิช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ผู้คัดค้าน

โดยผู้ร้องยื่นคำร้องสรุปว่า ผู้คัดค้าน โพสต์ภาพถ่ายและข้อความตามคำร้องข้อ 4.1 (1) ถึง (6) ในลักษณะเป็นการกระทำอันมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ชื่อบัญชี Pannika Chor Wanich ของผู้คัดค้าน

ต่อมา ผู้คัดค้านได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภาพถ่ายและข้อความดังกล่าว ยังคงปรากฏอยู่ในบัญชีเฟซบุ๊กของผู้คัดค้าน ในลักษณะเป็นสาธารณะ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปดูได้อย่างต่อเนื่อง โดยผู้คัดค้านมิได้กระทำการใด ๆ หรือลบภาพ และข้อความดังกล่าว ออกจากบัญชีเฟซบุ๊กของผู้คัดค้าน เป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพและเทิดทูนต่อสถาบัน พระมหากษัตริย์ อันเป็นการไม่ยึดมั่นและธำรงไว้ ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นการไม่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

ผู้ร้องจึงขอให้ศาลพิพากษาว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้คัดค้าน มีกําหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 27

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การกระทำของผู้คัดค้านเกิดขึ้นก่อนที่จะมีบทกฎหมายและมาตรฐานทางจริยธรรม จึงไม่อาจใช้บังคับย้อนหลังกับผู้คัดค้านได้ และบทกฎหมายดังกล่าว มุ่งหมายใช้บังคับแก่บุคคลที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะถูกร้องและดำเนินคดี แต่ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.แล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจไต่สวนและยื่นคำร้องต่อศาล ขณะผู้คัดค้านดำรงตำแหน่ง ส.ส.มิได้กระทำการใด อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม

ส่วนการที่ยังคงมีภาพถ่ายและข้อความ ตามคำร้องปรากฏอยู่ ไม่ถือเป็นการกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ขอให้ยกคำร้อง

ศาลฎีกา พิเคราะห์คำเบิกความและพยานจากการไต่สวนแล้วพิพากษาว่า ผู้ร้องได้รับคำร้องของ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ฉบับลงวันที่ 11 มิ.ย.2562 กล่าวหาว่า ผู้คัดค้านขณะดำรงตำแหน่ง ส.ส.มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งขณะนั้นมีผลใช้บังคับแล้ว ไว้พิจารณา และผู้คัดค้านยังดำรงตำแหน่ง ส.ส. แม้ต่อมาผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งแล้ว ผู้ร้องยังคงมีอำนาจไต่สวนและยื่นคำร้องคดีนี้ได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 234 (1) มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 ประกอบมาตรา 55 (3)

ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข…”

ผู้คัดค้าน มีเชื้อชาติและสัญชาติไทย นอกจากมีหน้าที่ตามมาตรา 50 (1) อันเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยแล้ว ผู้คัดค้านในฐานะ ส.ส.ยังต้องยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อรักษาเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง และความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ย่อมต้องระมัดระวังในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ มิให้มีภาพถ่ายหรือข้อความพาดพิง หรือแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือมิบังควร

เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นมิ่งขวัญและศูนย์รวม ความสามัคคีของปวงชนชาวไทย โดยกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ว่า “ในหลวง” “พ่อหลวง” หรือ “พ่อของแผ่นดิน” เป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย ปวงชนชาวไทยมีความรักและความภาคภูมิใจในองค์พระมหากษัตริย์ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดมา

เมื่อพิจารณาการกระทำของผู้คัดค้านตามคำร้อง ซึ่งกระทำอย่างต่อเนื่องกันมาจึงต้องนำการกระทำของผู้คัดค้านทั้งหกกรณี มาพิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อหยั่งทราบเจตนาของผู้คัดค้าน ว่ามุ่งประสงค์อย่างไร การกระทำของผู้คัดค้านตามคำร้อง ข้อ 4.1 (1) ถึง 4.1 (4) และ 4.1 (6) ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า ผู้คัดค้านมี เจตนาพาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9

ส่วนการกระทำตามคำร้อง ข้อ 4.1 (5) เป็นการลงข้อความพาดพิงถึง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พระนามในขณะนั้น) อันเป็นการแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่เหมาะสม หรือมิบังควรอย่างยิ่ง เป็นการไม่เคารพในหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้คัดค้าน ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนดำรงตำแหน่ง ส.ส. และเมื่อดำรงตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับมาตรฐานทางจริยธรรมฯ หมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ข้อ 6 ที่กำหนดให้ผู้คัดค้านต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

นอกจากการกระทําโดยตรงแล้ว ยังหมายรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใด โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย เมื่อผู้คัดค้านยังคงปล่อยให้ภาพถ่ายและข้อความดังกล่าว ปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์บัญชีการใช้งาน เฟซบุ๊กของผู้คัดค้าน ในลักษณะเป็นสาธารณะบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ พฤติการณ์ของผู้คัดค้าน เป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพและเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 มาตรา 50 (1) และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6

การที่ผู้คัดค้านไม่ลบหรือนำภาพถ่ายและข้อความดังกล่าวทั้งหมด ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งที่สามารถกระทำได้ เพื่อไม่ให้ปรากฏอยู่ และเพื่อไม่ให้บุคคลใดสามารถเข้าถึงภาพถ่ายและข้อความทั้งหกกรณีดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6 ประกอบ ข้อ 27 วรรคหนึ่ง

ให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคสามและวรรคสี่ แต่ยังฟังไม่ได้ว่า เป็นการไม่ยึดมั่นและธำรงไว้ ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 5 จึงยังไม่เห็นสมควร เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้คัดค้าน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"