นิวยอร์ก – นายกรัฐมนตรี ยืนยัน เวที UNGA78 รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้รัฐธรรมนูญ และค่านิยมประชาธิปไตย ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน พร้อมดำเนินบทบาทนำอย่างสร้างสรรค์ ร่วมกับประชาคมโลก เพื่อส่งเสริมสันติภาพ สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
วันที่ 22 กันยายน 2566 เวลา 12.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ณ โถงประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ในหัวข้อ ‘Rebuilding trust and reigniting global solidarity: Accelerating Action on the 2030 Agenda and its Sustainable Development Goals towards peace, prosperity, progress and sustainability for all : ประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่อง สันติภาพ มนุษย์ และการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก เพื่ออนาคตร่วมกัน (Investing in peace, people, and planet for our common future)
สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
รัฐบาลประชาธิปไตย
นายกรัฐมนตรี ยืนยันถึงบทบาทของไทยในเวทีโลก ซึ่งในขณะนี้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และกำลังเดินหน้าเสริมสร้างความเข้มแข็งให้รัฐธรรมนูญ และค่านิยมประชาธิปไตย รวมถึงส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดำเนินบทบาทนำอย่างสร้างสรรค์ ร่วมกับพันธมิตรและประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์และความเจริญรุ่งเรืองแก่ประชาชน ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า การลงทุน การเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) และไทยพร้อมรับมือกับความท้าทายในระดับโลก ทั้งการเสริมสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโลก การและพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือในระดับพหุภาคีจากประชาคมระหว่างประเทศ
ข่าวน่าสนใจ:
- "รัฐสภา" ร่วมสนับสนุนการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร”
- ตรัง อึ้ง!! เด็ก-เยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษากว่า 6 พันคน ศึกษาธิการตรังสั่งรวบรวม-วิเคราะห์ข้อมูล รับนโยบาย Thailand zero dropout
- กลุ่มผู้รับเหมาประกาศกฎเหล็กไม่ดำเนินงานต่อโครงการพลังงานสะอาด หาก UJV ไม่ชำระหนี้เก่าทั้งหมด
นายกรัฐมนตรี ชื่นชมความมุ่งมั่นของสหประชาชาติ เรื่องวาระใหม่เพื่อสันติภาพ (New Agenda for Peace) ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าจะเป็นแนวทางสำคัญในการฟื้นฟูความร่วมมือระดับพหุภาคี และส่งเสริมบทบาทของสหประชาชาติในการเสริมสร้างสันติภาพให้กับโลก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังขอให้ทุกฝ่ายวางรากฐานที่เข้มแข็งให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประชาชน ผ่านกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องครอบคลุม ยืดหยุ่น และมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ โดยไทยมีความมุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนความร่วมมือกับนานาประเทศบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเข้าใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน ในการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อคงไว้ซึ่งสันติภาพโลก
ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพ โดยดำเนินการเสริมสร้างความเท่าเทียมและความยุติธรรมให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางและคนชายขอบ ผ่านการสร้างความเข้มแข็งให้กฎหมายและเพิ่มความโปร่งใสในรัฐบาล และมุ่งมั่นบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม ครอบคลุม และเสมอภาคกับทุกคน ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ.2025-2027 แสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและทั่วโลก ตลอดจนส่งเสริมการทำงานของ HRC ให้มีประสิทธิภาพ สอดรับกับความท้าทาย และสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้กับประชาคมโลก
ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงบทเรียนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ในการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุข โดยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำคัญที่รัฐบาลของแต่ละประเทศควรมอบให้แก่ประชาชนของตน พร้อมยกตัวอย่างความสำเร็จของไทย ในการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2002 โดยมีบทบาทสำคัญในการป้องกัน รักษา และบรรเทาโรค ให้คนไทยทุกช่วงวัย
รัฐบาลมีแผนที่จะยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีคุณภาพ และเพิ่มทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการทางด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพสูงได้มากยิ่งขึ้น โอกาสนี้ ไทยยังขอให้ทุกประเทศร่วมมือกันเสริมสร้างกลไกความร่วมมือระดับโลกเพื่อป้องกันกับโรคระบาดใหญ่ (pandemic treaty) สำหรับเตรียมรับมือกับโรคระบาดในอนาคต
การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก
ไทยยืนยันเจตนารมณ์ในการร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ ในการเดินหน้าไปไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งแม้ปัจจุบันการดำเนินการจะสำเร็จ คิดเป็นเพียง 12% แต่เชื่อมั่นว่ากำลังเดินมาถูกทาง โดยทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันการปฏิบัติตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลไทยวางแผนที่จะออกนโยบายที่กระตุ้นการจ้างงานและสนับสนุนเงินทุนแก่ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำและประชาชนในกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมุ่งเน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและการเติบโตที่ยั่งยืนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG ซึ่งส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหานี้ว่า กำลังทวีความรุนแรง สอดคล้องกับคำกล่าวของเลขาธิการสหประชาชาติ ในการเตรียมรับมือการเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) พร้อมเน้นย้ำถึงความร่วมมือจากทุกประเทศ ในการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ผ่านกรอบการประชุม Climate Ambition Summit เพื่อเป็นกลไกในการเสริมสร้างความร่วมมือกัน ซึ่งจะนำไปสู่การลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อมนุษยชาติ
ผลกระทบที่สำคัญ คือ ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและการขาดแคลนสารอาหาร ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศส่งออกอาหารและผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของโลกก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน รัฐบาลจึงได้ดำเนินการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำและการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
หนุนการเงินสีเขียว
นายกรัฐมนตรียังสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินสีเขียว (Green Finance Mechanism) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) รวมถึง Thailand Green Taxonomy ซึ่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ผ่านการกระตุ้นการกำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี 2040 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 รวมถึงมีแผนการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน พร้อมเดินหน้าเปลี่ยนผ่านระบบคมนาคมไปสู่การใช้พลังงานสะอาด โดยส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเชิญชวนทุกฝ่าย ให้กระชับความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมแบ่งปันประสบการณ์และการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อสันติภาพ ความมั่งคั่ง ความก้าวหน้า และความยั่งยืน สำหรับทุกคน และหวังว่าการประชุมครั้งสำคัญอย่าง Summit of the Future ในปีหน้า จะเป็นกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่สำคัญของสหประชาชาติในการเสริมสร้างสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่โลก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: