กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้อง บูรณาการติดตาม แก้ปัญหา แจ้งเตือน พร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ขณะที่กรมอุตุฯ ชี้ 3-7 ตุลาคม ฝนจะลด ก่อนจะกลับมาตกหนักอีกครั้ง ตั้งแต่ 7 ตุลาคมเป็นต้นไป
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำใน จังหวัดลำปาง แพร่ และอุบลราชธานี หลังได้รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะต้องรองรับมวลน้ำที่ไหลลงมาจากจังหวัดแพร่ และไหลเข้าท่วมทั้งในพื้นที่เกษตรกรรมและตัวเมืองบางส่วนแล้ว
นายกรัฐมนตรี ย้ำเรื่องสำคัญ คือ การวางแผนรับมือมวลน้ำที่จะเข้ามาอีกระลอก ซึ่งจะซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงไปกว่าเดิม พร้อมสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5 ด้าน ประกอบด้วย
1.ให้กรมชลประทาน บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดจราจรน้ำใน ลุ่มน้ำชี-มูล ลุ่มน้ำยม-น่าน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา
2.ให้หน่วยงาน ได้แก่ จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมชลประทาน ตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ สะพาน และอาคารชลประทาน ให้มีความมั่นคง และพร้อมใช้งานตลอดช่วงฤดูน้ำหลาก
ข่าวน่าสนใจ:
3.การช่วยเหลือ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน เช่น เร่งซ่อมแซมที่อยู่อาศัย กำจัดขยะที่มากับน้ำ และตามที่ประชาชนร้องขอ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บูรณาการระดมสรรพกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพ หน่วยงานท้องถิ่น
4.พยากรณ์อากาศ ให้กรมอุตุนิยมวิทยาติดตามสภาพอากาศ และแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแจ้งเตือนสภาพอากาศกับประชาชน เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด
5.การแจ้งเตือน ให้กรมชลประทานร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประชาสัมพันธ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนในพื้นที่ให้ทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
3-7 ตุลาคม ฝนจะลด ก่อนจะกลับมาตกหนักอีกครั้ง ตั้งแต่ 7 ตุลาคม
ด้านว่าที่ร้อยตรีธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสรุปสภาพอากาศ ว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากร่องมรสุมพัดผ่าน ส่งผลให้ภาคเหนือและภาคอีสาน ได้รับผลกระทบจากน้ำฝน น้ำท่วมขัง และดินสไลด์บางพื้นที่ หลังจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 3-7 ตุลาคม น้ำฝนจะลดน้อยลง มวลอากาศเย็นจะเข้ามาแทนที่ จากนั้น ฝนจะกลับมาตกจำนวนมากอีกครั้ง ตั้งแต่ 7 ตุลาคม เป็นต้นไป สำหรับข้อกังวลเรื่องพายุโคอินุ ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ
ค่ำวานนี้ (1 ต.ค.) นายกรัฐมนตรี ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่กรมชลประทาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: