กาญจนบุรี – กฟผ. จับมือ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมความเย็น มอบตู้แช่เย็นเชิงพาณิชย์ประหยัดพลังงาน ส่งเสริมการขายสินค้าทางการเกษตรและสินค้าแปรรูป กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตและแปรรูปมะละกอปักไม้ลาย สร้างรายได้ยกระดับคุณภาพสินค้าสู่ความยั่งยืน
วันที่ 8 ตุลาคม 2566 นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วย นายภานุเดช สีหนาจ รองผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท พัฒนาอินเตอร์คูล จำกัด ส่งมอบตู้แช่เย็นเชิงพาณิชย์ ให้แก่ นายพัฒน์พงษ์ มงคลกาญจนคุณ ผู้แทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตและแปรรูปมะละกอปักไม้ลาย เพื่อใช้ในการออกร้าน ขยายตลาด สร้างรายได้ให้ชุมชน แบบประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ณ ศูนย์เรียนรู้ชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ. เปิดเผยว่า ตู้แช่เย็นเชิงพาณิชย์ เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าหนึ่งในกลยุทธ์ 3 อ. ของการดำเนินงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า หรือ DSM ของ กฟผ. โดย กฟผ. และพันธมิตร ได้ส่งมอบตู้แช่เย็นฯ ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ จำนวน 2 ตู้ รุ่น AC-58
ที่นอกจากจะมีประสิทธิภาพในการให้ความเย็น ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีดีไซน์ที่ทันสมัย ขนาดเล็กกะทัดรัด สะดวกในการขนย้ายเพื่อนำไปออกร้านจัดแสดงสินค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขาย ขยายตลาดสินค้าไปสู่วงกว้าง นอกจากนี้ ยังช่วยให้การส่งมอบสินค้าทางเกษตร หรือสินค้าแปรรูปอื่น ๆ ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมั่นใจและมีคุณภาพ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสและรายได้ให้ชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
สำหรับการส่งมอบตู้แช่เย็นเชิงพาณิชย์ครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือจากการจัดงานครบรอบ 30 ปี การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) ที่อิมแพค ฮอลล์ 9 เมื่อวันที่ 20-24 กันยายน 2566 โดย กฟผ. ทำหน้าที่ประสานและจับคู่ผู้ประกอบการด้านอุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรอบเขต เขื่อน โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่นำสินค้าชุมชนมาจัดแสดงและจำหน่ายภายในงาน ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้เพื่อพัฒนาและยกระดับสินค้าชุมชนผ่านการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง
รวมทั้งจะช่วยส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างทัศนคติด้านการประหยัดพลังงานแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า และส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ
ตลอดระยะเวลา 30 ปี ของการดำเนินงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) ผ่านกลยุทธ์ 3 อ. ได้แก่ อุปกรณ์ อาคาร และอุปนิสัย ผ่านโครงการต่าง ๆ กว่า 40 โครงการ ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคที่อยู่อาศัย ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม กระตุ้นให้เกิดการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้ากว่า 35,600 ล้านหน่วย หรือประมาณ 1.78 แสนล้านบาท นำไปสู่การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่บรรยากาศได้กว่า 19.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: