กฟผ. ผนึกกำลัง สฟอ. และพันธมิตร นำร่องกำจัดซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี พร้อมแคมเปญ ‘เก่าแลกใหม่’ รับส่วนลด 1,000 บาท เมื่อซื้อแอร์ใหม่ และส่งมอบแอร์เก่าไปจัดการซากอย่างถูกวิธี คาด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 1,000 ตัน ตอบโจทย์เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission อย่างยั่งยืน
นายธวัชชัย สำราญวานิช ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น (EGAT Cooling Innovation Fund : CIF) ร่วมเป็นประธานเปิด โครงการส่งเสริมกระบวนการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี ภายใต้กองทุน CIF และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘บทบาทของอุตสาหกรรมการทำความเย็น กับการขับเคลื่อนประเทศไทยให้มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’
โดยมี นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) ผู้แทนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมริชมอนด์ แกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น อ.เมือง จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566
นายธวัชชัย สำราญวานิช ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. ระบุว่า ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางที่สำคัญ ของอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของโลก จึงเดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมทำความเย็นสู่เทคโนโลยีสีเขียว โดยเปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการสนับสนุนมาตรการทางการเงิน จากกองทุน CIF รวมถึงต่อยอดความร่วมมือระหว่าง กฟผ. สฟอ. และเครือข่ายพันธมิตร เดินหน้าโครงการส่งเสริมกระบวนการจัดการซากเครื่องปรับอากาศ และสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี
นำร่องกระบวนการในการรวบรวมเครื่องปรับอากาศที่หมดอายุการใช้งาน เข้าสู่กระบวนการถอดแยกและกำจัดอย่างถูกวิธี ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมจัดกิจกรรม ‘เก่าแลกใหม่’
ข่าวน่าสนใจ:
รับส่วนลด 1,000 บาท ต่อการซื้อเครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง เพียงนำเครื่องปรับอากาศเก่า ให้ช่างถอดและดูดกลับสารทำความเย็น แล้วนำไปจัดการซากอย่างถูกวิธี
นำร่องที่ห้างสรรพสินค้าโฮมโปร สาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต สาขาประชาชื่น และสาขาราชพฤกษ์ รวมทั้งสิ้น 375 สิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป หรือจนกว่าสิทธิ์จะหมด
คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 1,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศสามารถมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission ได้ในอนาคต
นอกจากนี้ กฟผ. ยังปรับรูปแบบฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 โดยเพิ่มข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น อาทิ การออกแบบเพื่อการหมุนเวียนวัสดุหรือใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิต การขนส่ง และการกำจัดของเสียที่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยจะเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ด้านนายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) เสริมว่า โครงการส่งเสริมกระบวนการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็น ทั้งผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ผู้รวบรวมซากฯ ศูนย์รวบรวมซากฯ ผู้ขนส่งซากฯ และโรงถอดแยกหรือกำจัด เกิดกระบวนการบริหารจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็น ไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนกลไกในการจัดการซากผลิตภัณฑ์
ตามร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่จะบังคับใช้ในอนาคต ผลักดัน และเตรียมความพร้อมของประเทศ ให้สามารถสร้างระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเสียอันตรายได้อย่างปลอดภัย ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: