กรุงเทพฯ – คณะรัฐมนตรี อนุมัติค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นำร่อง รถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้ามหานครสายสีม่วง ช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน
วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ของการไฟแห่งประเทศไทย และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เริ่มต้นเมื่อระบบพร้อม จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567
ทั้งนี้ ให้กระทรวงคมนาคมประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปริมาณผู้โดยสารและรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐ และคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะปรับลดจากราคาปัจจุบัน ที่เริ่มต้น 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท เหลือสูงสุด 20 บาทตลอดสาย โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ (16 ต.ค.86) เป็นต้นไป
นำร่อง 2 โครงการ คือ
1.โครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ จำนวน 16 สถานี 2.โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 4 สถานี
ซึ่งการเชื่อมต่อระหว่าง รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง กับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ได้กำหนดอัตราค่าโดยสารของทั้ง 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาท แต่จะต้องเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที และจะต้องใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน หรือบัตร EMV Contactless เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรก หากข้ามระบบ ยังคงต้องชำระอัตราค่าโดยสารของแต่ละสายก่อน เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบ (ซอฟต์แวร์) คาดว่า จะเปิดให้บริการเชื่อมต่อ รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง กับ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในอัตราสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย ภายในวันที่ 1 พ.ย.นี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังเชื่อว่า การลดค่าโดยสารดังกล่าวนี้ จะไม่เป็นภาระงบประมาณ และรัฐไม่จำเป็นต้องชดเชย เพราะคาดว่าจะมีผู้โดยสารมากขึ้น โดยได้ประสานกับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อจัดส่งผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการ โดยคาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการอย่างน้อยประมาณวันละกว่า 1 แสนคน แบ่งเป็น รถไฟฟ้าสายสีม่วง 70,000 คน และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 70,000 คน
สำหรับพระราชบัญญัติตั๋วร่วมนั้น อยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารเสนอ คณะรัฐมนตรี และสภาฯ เพื่อพิจารณา คาดว่าจะเสนอได้ภายในปีนี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: