ขอนแก่น – กฟผ. ติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จากอิทธิพลร่องมรสุม และช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล พร้อมบริหารจัดการตามแผนฉุกเฉินเมื่อระดับน้ำเข้าสู่ภาวะวิกฤต
นายจรัญ คำเงิน รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบน บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำ ที่ปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล
ซึ่ง กฟผ. โดยเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าว โดยชะลอการระบายน้ำ ตามมติที่ประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะกรรมการลุ่มน้ำชี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-7 ตุลาคม 2566 มีการระบายน้ำเพียงวันละ 0.8 ล้าน ลบ.ม. และวันที่ 8-15 ตุลาคม 2566 ปรับเพิ่มการระบายน้ำเป็นขั้นบันได วันละ 3-15 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำระบายทั้งสิ้นในช่วงเวลาดังกล่าว 104 ล้าน ลบ.ม.
ขณะเดียวกัน เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากถึง 1,981 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่เขื่อนอุบลรัตน์ได้กักเก็บไว้ ไม่ให้ไหลลงไปสมทบกับพื้นที่ตอนล่าง 1,877 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 95 ของมวลน้ำทั้งหมด ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนเกินความจุเก็บกักปกติคิดเป็น ร้อยละ 112 ของความจุ โดยมีปริมาณน้ำ 2,730 ล้าน ลบ.ม.
ข่าวน่าสนใจ:
- คืบหน้า! เจ้าของร้านหื่น คุกคามทางเพศพนักงาน ขอมีเซ็กซ์ ส่งภาพโป๊-ของลับ ให้ประจำ ด้านเจ้าของร้านปิดปากเงียบ
- ขอนแก่น พร้อมจัด " Khonkaen Countdown 2025 Rise Beyond" ขอนแก่น พุ่งทะยานสู่อนาคต อย่างยิ่งใหญ่ คาดเงินสะพัด 50 ล้านบาท
- กฟผ.แม่เมาะ มอบความสุข สไตล์บาหลี อินโดนีเซีย ในงานฤดูหนาวและของดีนครลำปาง
รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ. กล่าวต่อว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2566 จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น และมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น กฟผ. ได้เตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ เมื่อเข้าสู่ภาวะวิกฤตและสถานการณ์ฉุกฉินอย่างเหมาะสมเต็มประสิทธิภาพ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน เรื่องความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนและคันดิน ลดผลกระทบและความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนด้านเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
นายจรัญ คำเงิน ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา กฟผ. ให้ความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ และประสานความร่วมมือกับประชาชน อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ และเตรียมทำพนังกั้นน้ำป้องกันพื้นที่วิกฤติเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง พร้อมเร่งสูบน้ำและผลักดันน้ำหลังฝนตกหนักในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
พร้อมแจ้งเตือนประชาชนใกล้เขื่อนอุบลรัตน์ใน จังหวัดหนองบัวลำภูและขอนแก่น เฝ้าระวังและเตรียมรับมือกับระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจากพายุฝนในอนาคต กฟผ. มีการตรวจสอบอุปกรณ์ของเขื่อนอุบลรัตน์ ให้มีความพร้อมใช้งานตลอดเวลา และดูแลอาคารประกอบเขื่อน ให้มีความมั่นคงแข็งแรง
ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำได้ทาง http://water.egat.co.th/ หรือแอปพลิเคชัน EGAT Water และ EGAT One
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: