กรุงเทพฯ – สาธารณสุข เผย พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง เพิ่มต่อเนื่อง สัปดาห์เดียวพบผู้ป่วยเพิ่ม 24 คนส่วนผู้เสียชีวิตเป็นผู้ป่วยเอชไอวี ย้ำ กลุ่มเสี่ยงงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือผู้มีอาการสงสัยติดเชื้อ
วันที่ 30 ตุลาคม 2566 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรคเปิดเผยสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ต.ค.66) พบผู้เสียชีวิต 2 คน ผู้ติดเชื้อรวม 559 คน เป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ชาวไทย 503 คน ชาวต่างชาติ 52 คน ไม่ระบุสัญชาติ 4 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ 474 คน และรู้ว่าติดเชื้อ HIV 274 คน คิดเป็น44.18% กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 30-39 ปี (241 คน) ตามด้วยอายุ 20-29 ปี (172 คน)
สัปดาห์นี้ พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 24 คน อยู่ในกรุงเทพฯ 9 คน เชียงใหม่และนนทบุรี จังหวัดละ 3 คน ภูเก็ต 2 คน นครปฐม ชลบุรี ปทุมธานี ปราจีนบุรี สระบุรี อุดรธานี และอุบลราชธานี จังหวัดละ 1 คน
รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า สำหรับผู้เสียชีวิต เป็นชายไทยอายุ 24 ปี เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีและขาดยามา 3 ปี ระดับเม็ดเลือดขาว CD4 เท่ากับ 3 เซลล์ต่อมิลลิลิตร เริ่มป่วยตั้งแต่ 25 ส.ค.66 และไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ด้วยอาการไข้ อ่อนเพลีย มีผื่นใบหน้าหลัง มือ บริเวณอวัยวะเพศ
ต่อมา วันที่ 12 ก.ย. 66 ได้รับการส่งต่อมารักษาที่ สถาบันบำราศบำราศนราดูร เนื่องจากอาการรุนแรง คือ ผิวหนังตายบริเวณที่จมูก แผ่นหลัง และนิ้วมือ และมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนัง พบการแพร่กระจายของเชื้อฝีดาษลิงไปที่ปอด ทำให้ปอดอักเสบ มีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่เกิดจากเชื้อซีเอ็มวี (Cytomegalovirus: CMV) แม้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยา Tecovirimat (TPOXX) นาน 28 วัน ร่วมกับยาต้านไวรัสเอชไอวี และยารักษาโรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่ตรวจพบ แต่ยังมีการตายของเนื้อเยื่อเป็นบริเวณกว้างขึ้น ต่อมา มีภาวะไตวาย และระบบการหายใจล้มเหลวจนเสียชีวิตในที่สุด
นายแพทย์ธงชัย กล่าวอีกว่า อาการของโรคฝีดาษลิงที่พบบ่อย ได้แก่ มีผื่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต และอาการคัน สำหรับการรักษานั้น หากผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ไม่มีโรคอื่นร่วมด้วย จะรักษาตามอาการ และสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีโรคประจำตัวร่วม เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะให้ยาต้านไวรัส Tecovirimat โดยเร็ว ซึ่งผลการรักษาส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้น แต่มีบางรายที่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรงจะเสียชีวิต โดยกระทรวงสาธารณสุข กระจายยาต้านไวรัสดังกล่าว ไปไว้ที่โรงพยาบาลในจังหวัดที่พบการระบาด
อย่างไรก็ตาม โรคฝีดาษลิง สามารถป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงการมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้การติดเชื้อโรคฝีดาษลิง และงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เพื่อป้องกันเองและลดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นรวมถึงไม่สัมผัสใกล้ชิดแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และขอความร่วมมือหน่วยงานสาธารณสุขทุกจังหวัดเฝ้าระวัง และติดตามกลุ่มเสี่ยงพร้อมทั้งสื่อสารให้ความรู้วิธีการป้องกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: