กรุงเทพฯ – กทม.แก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน เตรียมนำเทคโนโลยีตรวจน้ำหนักติดตั้งสะพานทั่วกรุง พร้อมสั่ง 50 เขต สำรวจไซต์ก่อสร้าง 317 แห่ง ล้อมคอกแต่ต้นทาง
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยความคืบหน้า เหตุถนนทรุดตัว ที่มักกะสันและล่าสุด ที่ถนนสุขุมวิท 64/1 ที่รถบรรทุกตกถนนลงไปในบริเวณที่ก่อสร้าง ว่า ทั้ง 2 กรณี เป็นการขุดถนนเพื่อทำชาร์ปสำหรับการก่อสร้าง
กรณีมักกะสัน เป็นท่อระบายน้ำของ กทม.เอง ส่วนเหตุเมื่อวานนี้ เป็นเคสของการไฟฟ้านครหลวง โครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน ใช่แผ่นชั่วคราววางปิดถนนไว้ให้รถสัญจร ทั้ง 2 กรณีคล้ายกัน คือ มีรถบรรทุกวิ่งผ่าน เคสแรกรถบรรทุกผ่านไปได้แล้ว แต่รถกระบะตกแต่เคสเมื่อวานนี้รถบรรทุกตกและติดอยู่ในแผ่นที่ทรุดตัว
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับสาเหตุ น่าจะมาจาก 2 เรื่อง คือ รถบรรทุกน้ำหนักเกิน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ทั้งนี้ ตามกฎหมายทางหลวงท้องถิ่น กำหนดให้รถสิบล้อบรรทุกได้ไม่เกิน 25 ตัน แต่สำหรับรถขนาดนี้อาจบรรทุกได้ถึง 30 ลบ.ม. หรือประมาณ 45 ตัน อันนี้คือคำนวณจากขนาดที่เห็น ซึ่งเป็นต้องพิสูจน์ต่อไป
อีกสาเหตุ คือ ปัญหาการก่อสร้างหรือไม่ เช่นปัญหาเรื่องคุณภาพของการก่อสร้าง หรือความเรียบร้อยของการก่อสร้าง ก็ต้องพิสูจน์เช่นกัน ซึ่งเช้านี้ได้เปิดถนนให้ใช้สัญจรแล้ว โดยได้เสริมตัวคานให้มีความแข็งแรงมากขึ้น เพื่อความปลอดภัย
นายชัชชาติ ยังกล่าวถึงการตรวจสอบน้ำหนักรถ ว่า ต้องรอขั้นตอนการตรวจสอบ แต่อาจไม่ 100% เพราะมีปัญหาเรื่องที่ดินไหลลงไปในบ่อบ้าง ตอนที่ยกรถออก เพราะหากยังคงดินไว้จะเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน และ กทม.เอง ต้องขอความอนุเคราะห์จากกรมทางหลวงเพื่อนำเครื่องชั่งมา และอาจต้องมีการเปลี่ยนล้อที่บิดเบี้ยวก่อนเพื่อขึ้นชั่ง
เรื่องน้ำหนักบรรทุก เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนพอสมควร เป็นความรับผิดชอบของกทม. ร่วมกับตำรวจด้วย ปัจจุบัน พระราชบัญญัติทางหลวง กำหนดให้หน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลทางหลวงท้องถิ่น กทม.จึงเป็นผู้ออกกฎน้ำหนักบรรทุกเอง ซึ่งได้ออกไปแล้ว
การบังคับใช้ที่ผ่านมา กทม.ไม่ได้ชั่งน้ำหนักรถบรรทุกเพราะรถบรรทุกไม่ได้วิ่งเฉพาะใน กทม. แต่จะออกไปทางหลวง หรือทางหลวงชนบทรอบนอก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วด่านชั่งน้ำหนักจะอยู่พื้นที่นี้ ยอมรับ การบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย กทม.จับกุมแล้วต้องส่งตำรวจดำเนินคดีเพราะเป็นคดีอาญา เพราะฉะนั้น การดำเนินการในอนาคตคงต้องจัดชุดร่วมกับตำรวจและหน่วยงานที่มีเครื่องชั่งน้ำหนักในการดำเนินการ ซึ่งตอนนี้ได้เครื่องชั่งน้ำหนักจากกรมทางหลวงมาแล้ว 1 ตัว วันนี้น่าจะได้ลงไปทำให้เห็นว่ากระบวนการทำงานร่วมกันนั้นเป็นอย่างไร และอนาคตกทม.ต้องมีเครื่องชั่งเป็นของตัวเอง
ทั้งนี้ เรื่องน้ำหนักเราไม่ได้ไว้วางใจตั้งแต่ออกประกาศไป มีกระบวนการทำงานร่วมกับนักวิจัย การตั้งด่านในเมืองไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะส่งผลกระทบหลายด้าน ตามหลักที่คิดคือ จะนำตัววัดไปอยู่บนสะพานต่าง ๆ เรียกว่า ‘Weigh-In-Motion (WIM)’ ซึ่งได้จ้างคณะอาจารย์เมื่อ 2 เดือนที่แล้วเพื่อทดลองใช้ และได้ส่งทะเบียนรถบรรทุกคันที่เกิดเหตุไปดูในฐานข้อมูลซึ่งได้ประวัติออกมาว่า เคยตรวจวัดได้ว่าบรรทุกน้ำหนักเท่าไหร่ แต่ตรงนี้ยังเป็นข้อมูลในเชิงวิชาการ ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำให้รอบคอบเพราะสามารถเป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ และขณะนี้ยังไม่ได้สรุปว่ามีความผิด แต่ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่ากทม.เริ่มนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้แล้ว
ผู้ว่า กทม.เปิดเผยอีกว่า การดำเนินการในระยะสั้น กทม.จะร่วมกับกรมทางหลวง นำเครื่องชั่งน้ำหนักมาใช้ตรวจวัด และสั่งการให้สำรวจไซต์งานก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่มีอยู่ทั้งหมด 317 แห่ง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสำรวจตรวจสอบไซต์งานของตัวเองรวมถึงฝาบ่อ 879 บ่อ ระยะกลาง กทม.จะติดตั้งระบบ Weigh-In-Motion ให้มากขึ้นเพื่อทำให้การวัดมีมาตรฐาน รวมไปถึงเรื่องกฎหมายต้องเสนอทางรัฐบาลในการปรับให้เข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากมี พ.ร.บ.และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงานและต้องประสานกับตำรวจให้มากขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม.มีอำนาจจับกุมและต้องส่งต่อให้ตำรวจเพื่อดำเนินคดี แต่การปฏิบัติจริงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมให้ผู้กระทำผิดขับรถไปพบตำรวจ นอกจากนี้จะมีการถอดบทเรียนในครั้งนี้ เพื่อนำมาปรับปรุงและกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ชัดเจนของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ กทม.จะให้สำนักงานโยธาปรับเงื่อนไขการออกใบอนุญาตก่อสร้าง หากตรวจพบว่าไซต์ก่อสร้างใดมีรถบรรทุกน้ำหนักเกินจะให้ระงับการก่อสร้างทันที ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่องปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และรถบรรทุกน้ำหนักเกินด้วย ซึ่งวานนี้ได้มีการหารือกับ รองผบ.ตร. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ในเรื่องของการบูรณาการปรับปรุงหลักเกณฑ์ร่วมกัน เช่น การกำหนดเวลาวิ่งของรถบรรทุก การแก้ปัญหาจุดฝืดการจราจร การแก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน การก่อสร้างของหน่วยงานอื่น เป็นต้นโดยจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกัน ซึ่งในขณะนี้สิ่งที่ประชาชนจะช่วยได้คือเมื่อพบการกระทำผิดให้ร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue ของกทม.อีกทางหนึ่ง
พร้อมยืนยันว่า ได้กำชับเรื่องมาตรฐานการก่อสร้างมาตลอด ซึ่งหน่วยงานหลัก ๆ ในพื้นที่ คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่สร้างรถไฟฟ้า โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่อยู่ในระบบการทำฐานราก รวมทั้งการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งมีการนำสายไฟลงดิน และของ กทม.เอง ที่มีบ่อบำบัดน้ำเสียที่มักกะสัน ซึ่งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มากำชับเรื่องการทำงานอีกครั้งหนึ่ง ในว่ายวันนี้ โดยเฉพาะงานที่เป็นตัวโครงสร้างชั่วคราว คือ ฝาบ่อซึ่งยังไม่ได้ปิดถาวร กลางวันปิดไว้และเปิดช่วงกลางคืนเพื่อทำงาน ตรงนี้ ยังเป็นจุดที่ไม่สมบูรณ์ 100% รวมไปถึงความเรียบของฝาบ่อ แต่ละหน่วยก็ต้องไปเพิ่มความเข้มข้นตรงนี้ขึ้น
ด้าน รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่า กทม. กล่าวเสริมว่า ในอนาคต กทม.จะนำเทคโนโลยี AI ตรวจวัดน้ำหนักรถบรรทุก มาช่วยเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้ออุปกรณ์ หากได้ผลการศึกษาที่ชัดเจนก็จะเข้าสู่ขั้นตอนเลือกสะพานที่จะติดตั้งอุปกรณ์ AI ดังกล่าวเพื่อตรวจวัดน้ำหนักรถบรรทุก นอกจากนี้ยังการนำเทคโนโลยีการสแกนพื้นทางวิศวกรรมด้วย GPR (Ground Penetration Radar) เพื่อตรวจสอบความหนาแน่นของเนื้อดิน/หิน จากการก่อสร้างถนนและทางเท้าในขั้นตอนการตรวจรับงานก่อสร้างในกทม. เพื่อแก้ไขปัญหาจุดอ่อนในเรื่องพื้นดินทรุดจากชั้นดินต่างๆ โดยจะนำไปขยายผลและหารือกับผู้ก่อสร้างเพื่อแก้ไขความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: