กรุงเทพฯ – รัฐบาลเศรษฐา สร้างความเชื่อมั่น โชว์ผลงาน 60 วันแรก เร่งแก้ไขปัญหารอบด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจ ปากท้อง ขยายโอกาส ต่อยอด เพื่อพลิกโฉมประเทศไทย
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เวลา 20.10 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านรายการพิเศษ ‘Chance of Possibility จากนโยบายสู่การลงมือทำจริง 60 วัน ภายใต้รัฐบาลนายกเศรษฐา ทวีสิน’ ทางช่อง NBT2HD, NBT11 และทางออนไลน์ Facebook, YouTube และ Facebook เศรษฐา ทวีสิน – Srettha Thavisin กับภารกิจการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ผ่านนโยบายทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เน้น Quick Win 3 ประการ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการท่องเที่ยว การเกษตร การต่างประเทศ การคมนาคม พร้อมทั้งออกมาตรการเร่งด่วน ลดความเหลื่อมล้ำ ปราบปรามอาชญากรรม ดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติ ดันไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์สำคัญของโลก
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลได้มีมาตรการเร่งด่วนระยะสั้นในการลดรายจ่ายให้แก่ประชาชน คือ ลดค่าไฟ จาก 4 บาทกว่า จนล่าสุดเหลือ 3.99 บาท โดยรัฐบาลได้สั่งลด 2 ครั้ง นั่นหมายถึงรัฐบาลจะรีบลงมือทำก่อน ถ้าหากทำได้ ก็จะทำให้อีก และปรับลดราคาน้ำมันดีเซลแล้ว และจะเริ่มปรับลดราคาค่าน้ำมันเบนซินใน วันที่ 10 พฤศจิกายน รวมทั้งดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน ลดดอกเบี้ย พักชำระหนี้ให้เกษตรกร
ส่วนการแก้ปัญหาระยะกลางนั้น รัฐบาลมีมาตรการเข้าไปดูแลเรื่องการลดหนี้นอกระบบ และดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม สูงเกินกว่าที่กฎหมายระบุไว้ ทำให้ประชาชนหลุดจากวงโคจรหนี้นอกระบบยาก
ถัดไปเป็นการเพิ่มรายได้ รัฐบาลมีแนวทางเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกษตรกร เนื่องจาก 40% ของประชากรไทยอยู่ในภาคเกษตรกรรม รัฐบาลจะเข้าไปให้องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการทำการเกษตร ใช้กลไกการตลาดในการเปิดตลาดใหม่ ๆ ไปยังต่างประเทศ เป็นการขยายโอกาส และเพิ่มความต้องการผลผลิต ซึ่งจะทำให้ราคาของพืชผลสูงขึ้น นำไปสู่รายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
ภาคการท่องเที่ยว รัฐบาลได้ให้วีซ่าฟรีแก่ ชาวจีน ไต้หวัน อินเดีย และคาซัคสถาน จากข้อมูลพบว่า มีนักท่องเที่ยวจากคาซัคสถานเดินทางมาพักผ่อนที่ไทย อย่างที่จังหวัดพังงามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องด้วยปัจจัยทางคมนาคม ที่มีระบบขนส่งมวลชนรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ยังยกเว้นยื่นแบบ ตม.6 ผ่านด่านสะเดา จ.สงขลา เป็นการชั่วคราว รองรับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปดูแลความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยวทั้งระบบ ตั้งแต่ขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง การรับกระเป๋าสัมภาระ ไปจนถึงนักท่องเที่ยวเดินทางออกจากประเทศไทย
รัฐบาลยังเร่งอำนวยความสะดวกให้ชาวรัสเซีย ที่ต้องการพักผ่อนอยู่ในประเทศไทยเกิน 30 วัน เพราะปัจจุบันชาวรัสเซียสามารถพำนักอาศัยอยู่ในไทยไม่เกิน 30 วันเท่านั้น ทำให้ชาวรัสเซียต้องเดินทางออกไปแล้วกลับเข้ามาใหม่ ซึ่งในส่วนนี้ทางภาครัฐก็กำลังหารือแก้ไขปัญหากัน เนื่องจากระยะเวลาในการพำนักอาศัย และรายจ่ายต่อหัวเป็นสิ่งสำคัญ
รัฐบาลต้องการผลักดันให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังเมืองรองน อกจากหัวเมืองหลักด้วย เช่น จ.น่าน กาฬสินธุ์ สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา เพื่อกระจายรายได้ให้ทั่วถึง เม็ดเงินจะไม่ได้กระจุกที่หัวเมืองใหญ่เพียงอย่างเดียว
ข่าวน่าสนใจ:
- ปิดตำนานนักเขียน "ตรี อภิรุม" ศิลปินแห่งชาติฯ เจ้าของผลงาน "นาคี"
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
- กทม. ร่วม"ฟูกูโอกะ" เปิดงาน "Fukuoka Fair" ฉลอง 18 ปีเมืองพี่เมืองน้อง
- ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีฯ จัดกิจกรรม"วันกิมจิ"เผยแพร่การทำกิมจิ ผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เข้าไปดูความพร้อมของสนามบิน เช่น ที่สนามบินเชียงใหม่อีกด้วย จากปัญหาความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน แต่สนามบินมีข้อจำกัด ไม่สามารถให้บริการหลังเที่ยงคืนได้ รัฐบาลก็ได้ประสานให้ AOT เข้าไปดูแลในส่วนนี้ เพื่อที่จะขยายเวลาให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง สอดรับกับนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาล
นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังผลักดันสนามบินเมืองรอง ให้เป็นสนามบินนานาชาติ อย่างในภาคใต้ รัฐบาลเริ่มดำเนินการจัดตั้งสนามบินแห่งใหม่ใน จ.พังงา เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเดินทางมาพักผ่อนใน จ.พังงา กระบี่ และระนอง ต่อไปในอนาคต อาจจะเรียกว่า ‘อันดามัน อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต’
ส่วนในภาคเหนือ เช่น ลำปาง ลำพูน เชียงราย และน่าน อาจจะเรียกว่า ‘ล้านนา อินเตอร์แนชั่นแนล แอร์พอร์ต’ รัฐบาลยังต้องการจะผลักดันให้ จ.น่าน เป็นเมืองมรดกโลก เพื่อจะได้ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวน่านด้วย และจะอัปเกรดสนามบินน่าน ให้เป็นสนามบินนานาชาติเช่นกัน
นายกเศรษฐา ยังกล่าวถึงนโยบายด้านคมนาคม ว่า ได้พูดคุยกับจีน ถึงเรื่องโลจิสติกส์ทั้งภูมิภาค ซึ่งเป็นดำริของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มา 10 ปีแล้ว ประเทศที่อยู่ในแผนงาน ได้ยืนยันตามเจตนารมณ์ในการเดินหน้าพัฒนาโครงการ เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างการขนส่งผลผลิตทางเกษตรกรรมผ่านทางรถไฟความเร็วสูง เกษตรกรไทยจะได้ประโยชน์มาก เพื่อรักษาคุณภาพของพืชผล ดังนั้นรัฐบาลยืนยันว่าจะดำเนินการต่อ ซึ่งขณะนี้กำลังวางแผนในเรื่องของระบบรางคู่ จุดยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น สะพานข้ามจากหนองคายไป สปป.ลาว
นอกจากการสร้างรถไฟความเร็วสูงแล้ว เรื่องการพัฒนาระบบบริหารจัดการสินค้าระหว่างชายแดน (Border Control) ก็เป็นสิ่งที่ต้องอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะระบบบริการ Single Window เชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ ในการขนส่งสินค้าจากไทย ไป สปป.ลาว ควบคู่ไปกับการทำงานในหลาย ๆ ภาคส่วน เพื่อให้ง่ายต่อภาคธุรกิจ (Ease of doing Business) “รัฐบาลเราก็ตระหนักดีว่าเรื่องของการขยายเส้นทางคมนาคมทั้งหลายถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนแล้วต้องทำโดยเร็วครับ” นายกฯ เศรษฐา กล่าว
การขยายโอกาส ในช่วงที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปร่วมประชุม UNGA (การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ) ได้พบผู้นำระดับโลก ปีนี้ หัวข้อหลักเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs คือ พลังงานสะอาด ประเทศไทยเองก็ได้ใส่ใจเรื่องนี้ ได้ออกหุ้นกู้สีเขียว จะมีการระดมทุน แสดงเจตจำนงให้ชาวโลกได้รับทราบว่าประเทศไทยมีเป้าที่ชัดเจนในการทำ Net Zero Carbon ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิต และรัฐบาลก็ได้ถือโอกาสในส่วนนี้ พบปะกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในไทย เช่น Google, Microsoft, Tesla ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิต รวมถึงผู้สนใจที่จะมาลงทุนให้ไทยเป็น Data Center ล้วนแล้วต้องใช้ทรัพยากรทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำ ไฟฟ้า และพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในสัปดาห์หน้า รัฐบาลจะเดินทางไปประชุมผู้นำ APEC ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ก็จะมีการเจรจา และลงนาม MOU กับต่างชาติอีกด้วย
นายเศรษฐา ระบุอีกว่า ในฐานะเซลล์แมนประเทศไทย ได้บอกกับนานาชาติว่า ประเทศไทยเปิดแล้ว ไม่มีเวลาไหนที่จะดีเท่าเวลานี้ที่จะมาลงทุนที่ประเทศไทย เนื่องจากไทยมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งความพร้อมในมาตรการสนับสนุนทางภาษีโดย BOI (คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) พลังงานสะอาด และค่าครองชีพที่อยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
เรื่อง Health Care Service ของไทย อยู่ในระดับ World Class เรื่องของสถานศึกษาก็มีความพร้อม ไทยมีโรงเรียน International รองรับอยู่หลายแห่ง ดังนั้นประเทศไทยจึงพร้อมที่จะเป็น Hub ของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปเยี่ยมประเทศในอาเซียน อย่างที่ กัมพูชา บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง ก็ได้ไปพบปะพูดคุยถึงโอกาสในการทำธุรกิจ รับฟังปัญหา เพื่อจะได้กลับมาแก้ไขได้อย่างตรงจุด
รัฐบาลมีโอกาสพูดคุยที่จีน และองค์กรด้านรัฐวิสาหกิจ ที่ลงทุนเกี่ยวกับความมั่นคง ด้านอาหาร ปศุสัตว์ และเกษตรกรรม ที่ซาอุดีอาระเบีย ถึงความต้องการเนื้อวัวจากประเทศไทย ระบุว่า ทั้ง 2 ประเทศมีความต้องการเนื้อวัวที่ชำแหละแล้วเป็นจำนวนมาก แต่ไทยมีโรงเชือดที่ใหญ่ที่สุดคือที่จังหวัดชุมพร เชือดได้วันละ 200 ตัวเท่านั้น ในขณะที่บราซิลมีกำลังการผลิตในการเชือดวัวสูงถึง 45,000 ตัวต่อวัน รัฐบาลก็กำลังพิจารณาสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ในการเชือด พร้อมทั้งคำนึงถึงหลักศาสนาอาหารฮาลาล เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น 3 เท่าตามนโยบายที่ประกาศไปก่อนหน้านี้
ปัญหาอาชญากรรม แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และยาเสพติด รัฐบาลได้วางมาตรการ นโยบายแก้ไขปัญหา เริ่มจากปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ทำงานร่วมกับตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อกวาดล้างให้เด็ดขาด ทั้งเรื่องการปิดบัญชีม้า ต้องทำอย่างจริงจัง โดยให้ประสานไปยัง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำหนดให้เป็นคดีพิเศษ เพื่อให้มีการยึดทรัพย์ ตัดต้นตอให้เร็วที่สุด
ปัญหาหนี้สิน หนี้ครัวเรือน นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนต่อ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี : GDP) ขึ้นจาก 76% มาเป็น 91% ติดอันดับ TOP 20 ของโลก ซึ่งถือว่าสูงมาก รัฐบาลต้องการลดในส่วนนี้ ซึ่งทำได้ 2 แนวทาง คือ การลดหนี้ และการเพิ่มรายได้ โดยรัฐบาลได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย แต่ที่น่ากังวลคือหนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน รัฐบาลจะให้หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาดูแลในส่วนนี้ด้วย โดยให้นายอำเภอ ผู้กำกับ เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง ประสานระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้มาหาทางออกร่วมกัน
ปัญหายาเสพติด รัฐบาลกำหนดไว้ให้เป็นวาระแห่งชาติ เป็นเรื่องที่ต้องทำแบบบูรณาการ นายกรัฐมนตรีนำทีมบริหารจัดการ ทั้งเรื่องของการคุมขังผู้มีความผิด การยึดทรัพย์ ซึ่งขั้นตอนนี้ยังดำเนินการได้ช้าอยู่ ทำให้ผู้ที่ค้ายาเสพติดไม่เกรงกลัวการติดคุก และการถูกยึดทรัพย์
ความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาสังคม-ความเหลื่อมล้ำ นำโดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้วางไทม์ไลน์ในการแก้ปัญหาไว้ชัดเจนแล้ว และในประเด็นการสมรสเท่าเทียมนั้น รัฐบาลได้สั่งการให้ทำเอกสารเรื่องของการสอบถามความเห็นของทุกภาคส่วน แล้วจะนำเข้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นจดหมายฉบับแรกที่จะถูกยื่นเข้าเปิดสภาครั้งถัดไป ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ รวมถึงเรื่องสุราชุมชน ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเช่นกัน
การเกณฑ์ทหาร รัฐบาลตั้งใจที่จะเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้แถลงต่อประชุมรัฐสภา โดยได้มีการหารือกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ เรื่องสรรพกำลังของทหาร ว่าต้องลดอย่างไร และต้องให้เยาวชนมีสิทธิในการเลือกประกอบอาชีพ
สำหรับการยุบ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) นายกรัฐมนตรี บอกว่า ไม่เคยแถลงนโยบายนี้ออกไป ซึ่งทุก ๆ องค์กร ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ กอ.รมน. ไม่ว่าจะเป็น BOI หรือ EEC ก็ต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นไปตามบริบทของสังคม กองทัพเองเองก็ตระหนักถึงเรื่องการเปลี่ยนแนวทางในการใช้ กอ.รมน. เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน ร่วมแก้ปัญหาทางสังคม คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะปัญหาที่ดินทำกิน ปัจจุบันนี้ได้นำเอาพื้นที่ของหน่วยงานที่เกินความจำเป็นมาใช้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนกว่าหมื่นไร่ และปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ก็กำลังหาแนวทางร่วมกัน เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
“จริง ๆ แล้ว เราอาสาเข้ามาทำงาน ไม่มีสิทธิ์บอกว่าเหนื่อย ไม่มีสิทธิ์บอกอะไร แต่ว่าอุปสรรคสำคัญที่สุด คือ เวลาไม่พอ เวลาไม่พอทุกอย่าง เวลาไม่พอในการทำงาน เวลาไม่พอในการนอนนะครับ เพราะต้องมีงานพูดคุย ต้องมีงานทำอะไรหลาย ๆ อย่างนะครับ” นายเศรษฐา กล่าวในช่วงสัมภาษณ์ในประเด็นอุปสรรคตลอดระยะเวลา 60 วันที่ผ่านมา
รัฐบาลตระหนักถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเร่งเข็นนโยบาย Quick Win ให้สำเร็จตามเป้าหมาย ดัน GDP ของประเทศให้สูงขึ้น เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโต GDP เฉลี่ยของไทย อยู่ที่ร้อยละ 1.8% ซึ่งน้อยกว่าเพื่อนบ้าน
โดยเฉพาะเรื่องการเจรจาขยายโอกาส เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจัดการทั้งในระยะกลาง และระยะยาว เช่น การเจรจาสนธิการค้า หรือ FTA ที่ต้องเข้าเร่งเข้าไปเจรจาในทุก ๆ ประเทศ โดยภาคส่วนที่สำคัญที่สุดในการผลักดันในส่วนนี้ คือ ข้าราชการไทยที่รักประเทศ ต้องการเห็นประเทศพัฒนา ซึ่งทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับหน่วยงานนี้ไม่แพ้กัน
นายกเศรษฐา ทวีสิน ยังฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า “เรื่องใหญ่ก็คือเรื่องของปากท้อง ซึ่งรัฐบาลนี้ เราพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำทุกเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของปากท้อง อะไรทำได้ เราจะทำก่อน”
ทั้งหมดนี้ เป็นผลงานหลังจากที่มาเข้ามารับตำแหน่งได้ 60 วัน ที่เร่งแก้ไขปัญหารอบด้าน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน ความอยู่ดีกินดีจะถึงพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน รัฐบาลจะขยายโอกาส ต่อยอดทุกความเป็นไปได้กับทุกโอกาสที่เข้ามา (Chance of possibility)
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: