X

ผบ.ตร.เผย ต้องคัดแยก ‘เหยื่อ’ คนไทยจากเล้าก์ก่าย

กรุงเทพฯ – ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุ คนไทยที่กลับจากเมืองเล้าก์ก่าย ต้องเข้าสู่กระบวนการคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์ และขยายผลดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้อง

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยถึงการช่วยเหลือคนไทย ที่อยู่ในพื้นที่สู้รบ เมืองเล้าก์ก่าย ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ว่า ได้ส่ง พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัฒฑ์ สัจจพันธุ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ร่วมกับ กรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ เดินทางไปนครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขอความร่วมมือและการช่วยเหลือจากทางการจีน ในการรับคนไทยผ่านแดน เพื่อขึ้นเครื่องบินเหมาลำกลับมายังประเทศไทย

ซึ่งทางการจีนอนุญาตให้คนไทยที่ตกค้างในเมืองเล้าก์ก่าย เดินทางข้ามชายแดนไปยัง สนามบินเมืองคุนหมิงได้ เพื่อขึ้นเครื่องบินที่ทางการไทยเช่าเหมาลำไว้ 2 ลำ เพื่อมาลงที่สนามบินดอนเมือง ในเวลา 22.25 น. และ 00.40 น. คืนนี้

โดยจะมีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของไทย ร่วมเดินทางมาด้วย มีผู้โดยสาร 273 คน เป็นคนไทย 266 คน ฟิลิปปินส์ 6 คน และสิงคโปร์ 1 คน

ผบ.ตร.เปิดเผยอีกว่า เมื่อทั้ง 266 คน เดินทางเข้ามาถึง จะถูกนำไปยัง ศูนย์บูรณาการคัดกรอง เขตหนองจอก กทม. โดยจะมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ทำการคัดแยกเหยื่อตามกระบวนการการค้ามนุษย์ โดยมีตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์ และตำรวจนครบาล เข้าร่วม

ถ้าตรวจพบว่าเป็นเหยื่อในขบวนการค้ามนุษย์ จะดำเนินการช่วยเหลือเยียวยา หรือปฏิบัติตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และดำเนินการสืบสวนขยายผลเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง  รวมถึงการตรวจสอบโดยละเอียด ตามกระบวนการกฎหมาย ทั้งหมายจับและความผิดอื่น ๆ พร้อมยืนยันว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมในการประสานงาน บูรณาการหน่วยเกี่ยวข้อง เข้าช่วยเหลือคนไทย โดยเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย และการดูแลช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า คนไทยทั้งหมด มีทั้งผู้ที่สมัครใจไปทำงาน โดยที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นงานในขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และมีบางส่วนที่ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกจริง ซึ่งจะต้องคัดแยก โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มที่สมัครใจไปทำงาน ซึ่งพบว่ามีอยู่กว่า 70% เพราะมีรายชื่อว่าเคยถูกช่วยเหลือออกมาจากประเทศกัมพูชา มาก่อนหน้านี้
2.กลุ่มที่ถูกหลอกจริง ซึ่งเป็นรายชื่อใหม่มีเพียง 30% เท่านั้น

โดยผู้ที่สมัครใจไปจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามความผิด พระราชบัญญัติองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ฐาน ‘มีส่วนในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ’ ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุด และความผิดฐาน ‘ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน’ เพื่อไม่ให้บุคคลเหล่านี้กลับไปก่อคดีอีก และต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการหลอกลวงคนไทยด้วย ส่วนกลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อนั้น จะได้รับการเยียวยาตามกฎหมายต่อไป

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"