กรุงเทพฯ – ยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบ 18 วัน ลงทะเบียนแล้ว 100,467 ราย มูลหนี้ 6,085 ล้านบาท รองนายกฯอนุทิน นั่งหัวโต๊ะถกบอร์ดกำกับการแก้หนี้นอกระบบนัดแรก อนุมัติมาตรการแก้ไขปัญหา 3 ด้าน
วันที่ 18 ธันวาคม 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยยอดการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นวันที่ 18 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียน (1 ธ.ค.) ถึงเวลา 15.30 น. ประชาชน (ลูกหนี้) ลงทะเบียนแล้ว 100,467 ราย โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 88,669 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 11,798 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 71,202 ราย มีมูลหนี้รวม 6,085.977 ล้านบาท
จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก (อันดับเหมือนเดิม)
1.กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 6,322 ราย เจ้าหนี้ 5,253 ราย มูลหนี้ 511.824 ล้านบาท
2.จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 4,323 ราย เจ้าหนี้ 3,504 ราย มูลหนี้ 262.236 ล้านบาท
3.จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 3,986 ราย เจ้าหนี้ 2,817 ราย มูลหนี้ 248.398 ล้านบาท
4 จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 3,884 ราย เจ้าหนี้ 2,428 ราย มูลหนี้ 299.260 ล้านบาท
5.จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 2,610 ราย เจ้าหนี้ 2,070 ราย มูลหนี้ 190.513 ล้านบาท
จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก
1.จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 133 ราย เจ้าหนี้ 86 ราย มูลหนี้ 5.394 ล้านบาท
2.จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 207 ราย เจ้าหนี้ 132 ราย มูลหนี้ 15.167 ล้านบาท
3.จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 267 ราย เจ้าหนี้ 187 ราย มูลหนี้ 8.575 ล้านบาท
4.จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 334 ราย เจ้าหนี้ 200 ราย มูลหนี้ 10.487 ล้านบาท
5.จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 364 ราย เจ้าหนี้ 238 ราย มูลหนี้ 13.679 ล้านบาท
บอร์ดแก้หนี้นอกระบบ อนุมัติมาตรการแก้ปัญหา 3 ด้าน
เช้าวันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ครั้งที่ 1/2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบขั้นตอน การดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามแนวนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ มีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานอนุกรรมการฯ เพื่อติดตามผลการดำเนินการ กำหนดมาตรการช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และเชิญหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ความเห็นเพื่อนำเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ พิจารณาดำเนินการให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ 3 ด้าน ประกอบด้วย
1.ด้านการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ โดยมีกรมการปครองเป็นเจ้าภาพหลัก และมีสำนักงานอัยการสูงสุดร่วมสนับสนุน โดยนับแต่เริ่มเปิดลงทะเบียน ได้เชิญเจ้าหนี้ลูกหนี้มาไกล่เกลี่ย และทำบันทึกประนีประนอมไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 20 ราย กำหนดการเจรจาไกล่เกลี่ยได้อย่างน้อย ร้อยละ 80 ของลูกหนี้ในระบบและเจ้าหนี้ตามฐานข้อมูล โดยสามารถตกลงกันได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50
ข่าวน่าสนใจ:
- "ตรังโมเดล" โกโก้สร้างรายได้ให้เกษตรกร กิโลกรัมละ 8 บาท ภาคเกษตร-เอกชนร่วมมือเปิดจุดรับซื้อ 11 แห่ง
- ตรัง แม่ค้าร้านดังถูกหลอก อ้างเป็นเลขานายกฯสั่งข้าวกล่องช่วยน้ำท่วมสูญเงิน 3 พัน
- "กรุงเทพฯ ดีต่อใจ" ชวน ฮีลกาย..ฮีลใจ รับปีใหม่ 3-5 ม.ค.68
- ตรัง ผู้ตรวจฯกระทรวงพาณิชย์ ลงตรังเยี่ยมแปลงปลูกพริกไทยตรัง-สุราชุมชน ผู้ผลิตต่อยอดสินค้า GI "พริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน สู่มาตรฐาน EU organic…
2.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยบูรณาการร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ช่วยเหลือ ซึ่งได้ดำเนินคดีเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ใช้กำลังประทุษร้ายลูกหนี้ไปแล้วบางส่วน รวมทั้งเรียกมาทำความเข้าใจนโยบายของรัฐบาล กำหนดดำเนินคดีร้อยละ 70 ของเรื่องรับดำเนินการ ถ้าไม่ยุ่งยากดำเนินการเสร็จใน 3 เดือน กรณีมีความซับซ้อนไม่เกิน 3 เดือน
3.ด้านการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับสถาบันทางการเงินของรัฐ ปล่อยวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขน้อย และอาจมีระยะเวลาปลอดการชำระคืนเงินต้น โดยธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีเป้าหมายผู้ได้รับความช่วยเหลือร้อยละ 70 ของผู้ลงทะเบียน
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียน ทั้งทางออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือไปด้วยตนเอง ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร.1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: