X

กฟผ. กางแผนรุก ‘พลังงานไฮโดรเจน’ มุ่งสู่ Carbon Neutrality อย่างยั่งยืน

การเปลี่ยนผ่านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียน เป็นการนำพลังงานที่กำเนิดจากธรรมชาติรอบตัวเราและใช้ได้ไม่หมดสิ้น อย่าง พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม มาใช้ประโยชน์ให้กับมนุษย์ นับเป็นความท้าทายของนานาประเทศทั่วโลกที่ต้องเร่งเพิ่มอัตราการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากที่สุด เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน

พลังงานไฮโดรเจน จึงเป็นพลังงานที่ฮอตฮิตเป็นที่สนใจของทั่วโลกในการนำมาผลิตไฟฟ้าและกักเก็บพลังงาน เนื่องจากไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ตอบโจทย์เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutrality ในปี ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ.2065

ไฮโดรเจน พลังงานแห่งอนาคต
พลังงานไฮโดรเจน สามารถสังเคราะห์ได้ จากเชื้อเพลิงตามธรรมชาติหลากหลายประเภท ทั้งที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาทิ ไฮโดรเจนสีเทา (Grey hydrogen) ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ไฮโดรเจนสีดำและน้ำตาล (Black and brown hydrogen) จากถ่านหินสีดำ และลิกไนต์ ไฮโดรเจนสีแดง (Red hydrogen) จากชีวมวล หรือที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เรียกว่า ไฮโดรเจนสีเขียว (Green hydrogen) ซึ่งผลิตจาก พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (electrolysis) ที่แยกน้ำออกเป็นออกซิเจนและไฮโดรเจน

นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS : Carbon Capture and Storage) มาใช้ควบคู่กับการผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหิน จะทำให้ได้ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue hydrogen) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน เป็นทางเลือกที่สะอาด แต่ยังคงมีราคาแพง เนื่องจากใช้เทคโนโลยี CCS เป็นต้น

มีการคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ.2050 ความต้องการใช้ไฮโดรเจนจะเพิ่มขึ้น 6 เท่าจากปี ค.ศ.2020 โดยถูกนำมาใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงให้กับรถยนต์ เครื่องบิน เรือ หรือการขนส่งบรรทุกสินค้า ฯลฯ

ในส่วนของประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ได้ศึกษาการนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า มีเป้าหมายเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน เพื่อให้บริการพลังงานสีเขียว โดยสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ที่ผลิตมาจากพลังงานลมได้สำเร็จและใช้งานได้จริง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 โดยกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลม ในรูปของก๊าซไฮโดรเจน (Wind Hydrogen Hybrid System) จับคู่กับเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) กำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ และเปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้กับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จ.นครราชสีมา

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จ.นครราชสีมา

นอกจากนั้น กฟผ. ยังร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ อาทิ หน่วยงานพลังงานของประเทศออสเตรเลียที่มีเป้าหมายมุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน  ซึ่งออสเตรเลียมีโครงการ Latrobe Valley Hydrogen Facility ส่วนหนึ่งของโครงการ Hydrogen Energy Supply Chain (HESC) ที่นำร่องผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหินร่วมกับชีวมวล ด้วยขบวนการแปรสภาพเป็นก๊าซ (Gasification) และกลั่นให้ได้ก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์ (Refining)

โดยที่ Latrobe มีทรัพยากรถ่านหินลิกไนต์คุณภาพใกล้เคียงกับที่ กฟผ. แม่เมาะ ที่ไม่สามารถนำไปผลิตไฟฟ้าได้ เป็นลิกไนต์ที่มีแคลเซียมสูงจำนวนมาก ซึ่งเหมาะนำมาสกัดเป็นไฮโดรเจนสีน้ำตาล (Brown Hydrogen) ถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีในประเทศได้ประโยชน์สูงสุด เป็นการแปลงเชื้อเพลิงฟอสซิลให้เป็นพลังงานสีเขียว ตอบโจทย์ Carbon Neutrality ได้อย่างดี

Latrobe ยังใช้เทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) ในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากกระบวนการผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหิน (Brown Hydrogen) เช่นเดียวกับที่ กฟผ. กำลังศึกษาเทคโนโลยี CCS ในพื้นที่ที่มีศักยภาพคือ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ควบคู่กับการผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหินซึ่งจะทำให้ได้ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) เป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำเช่นเดียวกัน

เทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) ดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากกระบวนการผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหิน

เปิดแผนพัฒนาและเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานไฮโดรเจนของ กฟผ.
กฟผ. มีแผนศึกษาและพัฒนาโครงการการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว  (Green Hydrogen) และสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) บนพื้นที่ที่มีศักยภาพของ กฟผ. ตลอดจนศึกษารูปแบบและเทคโนโลยีการผสมไฮโดรเจน ร่วมกับก๊าซธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้า ผ่านการร่วมศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ กับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจน

โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green  Hydrogen) จากโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคอง ระยะที่ 2 เต็มศักยภาพ รวมถึงต่อยอดพัฒนาไปยังพื้นที่ โครงการพลังงานทดแทนจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์แห่งอื่น ๆ ของ กฟผ. ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ

และในปี พ.ศ.2567 กฟผ. มีแผนศึกษาความเหมาะสม โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซสังเคราะห์จากถ่านหินที่มีแคลเซียมออกไซด์ (CaO) สูง ควบคู่กับเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และการนำไปใช้ประโยชน์ (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) ณ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งได้เป็นไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen)  

โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง

และแผนศึกษาความเหมาะสมโครงการศึกษารูปแบบการผสมและการใช้งานไฮโดรเจนร่วมกับก๊าซธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น  โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น

นอกจากนี้ กฟผ. ยังแสวงหาความร่วมมือศึกษาพัฒนาและลงทุนเทคโนโลยีผลิตไฮโดรเจน รวมถึงบริหารจัดการทั้ง Value Chain กับพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย เยอรมนี รวมถึงสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย  ล่าสุด กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) มอบทุนให้ กฟผ. และ 3 บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น บริษัท ชิโยดะ คอร์ปอเรชั่น (CYD) บริษัท มิตซุย โอ.เอส.เค ไลน์ จำกัด (MOL) และบริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด (MCT) ร่วมศึกษาและพัฒนา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศ  ศึกษาการขยายโอกาสทางธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ

รวมถึงศึกษาโครงสร้างพื้นฐานด้านห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง การจัดเก็บ และการประมาณต้นทุนเชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาด บนพื้นที่ที่มีศักยภาพทางภาคใต้ของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการผลิตไฮโดรเจนใช้งานในภาคอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้า ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutrality และ Net Zero อย่างยั่งยืน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"