กรุงเทพฯ – กทม.ประกาศ เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วง อัตรา 15 บาท ตั้งแต่ 2 มกราคม 2567 ขณะที่ นางสาวรสนา โตสิตระกูล ชี้ กทม.ไม่มีสิทธิ์สั่งเก็บค่าโดยสารเอง เหตุไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ ระวัง ซ้ำรอยอดีตผู้ว่าฯ 2 คน
เริ่มวันนี้ (2 มกราคม 2567) กรุงเทพมหานคร จัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้ง 2 ช่วง ประกอบด้วย
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ในอัตราคงที่ 15 บาทตลอดสาย
โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ (ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท) ระยะทาง 12.80 กิโลเมตร มีจำนวน 9 สถานี จากสถานีสำโรง (E15) ถึงสถานีเคหะสมุทรปราการ (E23)
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (จากสถานีห้าแยกลาดพร้าว (N9) ถึงสถานีคูคต (N24)) ระยะทาง 18.40 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับกรณีเดินทางข้ามระบบส่วนต่อขยายที่ 1 กับเส้นทางต่อขยายทั้ง 2 ช่วง จะไม่คิดค่าโดยสารเพิ่ม
ขณะที่ นางสาวรสนา โตสิตระกูล แนะ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ อย่ารับเผือกร้อน ที่อาจทำผิดกฎหมาย ระวังซ้ำรอยอดีตผู้ว่าฯ 2 คน
นางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ตั้งคำถาม 4 ข้อ ให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตอบตัวเอง และตอบให้ชาว กทม.รับรู้ ดังนี้
1.ส่วนต่อขยาย 2 ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของ กทม. ผู้ว่าฯ กทม.จึงไม่มีสิทธิทางนิตินัย ที่จะเก็บค่าโดยสารเอง ใช่หรือไม่?
ส่วนต่อขยาย 2 มีหนี้ค่าก่อสร้างประมาณ 7 หมื่นล้านบาท โดยมี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของ อีกทั้งยังมีหนี้ค่าจ้างเดินรถและระบบเชื่อมต่อ ตั้งแต่ปี 2562-2566 ประมาณ 1 แสนล้านบาท รวมแล้วเกือบ 2แสนล้านบาท
2.การเก็บค่าโดยสารในทรัพย์สินที่ กทม.ไม่มีกรรมสิทธิทางนิตินัย เท่ากับ นายชัชชาติ ยอมรับภาระหนี้ทั้ง 2 ส่วนนี้โดยพฤตินัย ใช่หรือไม่?
3.การประกาศเก็บเงินค่าโดยสาร 15 บาท นายชัชชาติ ได้รับอนุมัติจากสภา กทม.แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ได้รับอนุมัติจากสภา กทม.ให้รับภาระหนี้ค่าก่อสร้างและหนี้ค่าจ้างเดินรถ นายชัชชาติ จะทำผิดกฎหมายด้วย ใช่หรือไม่?
4.ถ้าผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา กทม. และไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาล มาชดเชยการขาดทุนจากหนี้ดังกล่าว การเก็บค่าโดยสารอีก 15 บาท ก็ไม่พอจ่ายหนี้อยู่แล้ว อาจทำให้ผู้ว่าฯ ถลำไปสู่การต้องขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก ที่กำลังจะหมดสัมปทาน ในปี 2572 เพื่อล้างหนี้ ซึ่งจะทำให้ชาว กทม.เสียประโยชน์ ต้องจ่ายค่าโดยสารแพงไปอีกไม่ต่ำกว่า 30ปี ใช่หรือไม่
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะโดนฟ้องในคดีนี้อย่างแน่นอน และอาจต้องถูกฟ้องจาก คดีเก็บค่าโดยสารโดยไม่มีอำนาจ ใช่หรือไม่!
“ดิฉันขอให้ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ จดจำคดีของอดีตผู้ว่าอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ต้องลาออกจากการเป็น ผู้ว่าฯ กทม. กลางคัน เซ่นคดีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงโดยทุจริต เพียงแค่ไปเซ็นเปิด LC จ่ายเงินให้ และอดีตผู้ว่าฯ กทม.สมัคร สุนทรเวช ที่ถูกศาลฎีกาตัดสินเมื่อปี 2565 คดีรถและเรือดับเพลิงเช่นกัน คำสั่งศาลฎีกาให้ภรรยาและทายาทอีก 3 คนของท่านสมัคร ต้องจ่ายเงินชดใช้ความเสียหายของคดีรถ-เรือดับเพลิง 587 ล้านบาท แม้ท่านจะถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว ถ้าผู้ว่าฯ ชัชชาติเลือกเดินทางผิด ชาว กทม.อาจจะติดกับดักต้องจ่ายค่าโดยสารแพง และผู้ว่าฯ ชัชชาติ อาจประสบชะตากรรมแบบ อดีตผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 2 ท่านก่อนหน้านั้นหรือไม่ ท่านผู้ว่าฯ ควรใจเย็น ๆ รอวันที่กทม.จะได้รับโครงสร้างระบบรางสายสีเขียวหลักคืนกลับมาในปี 2572 ไม่ดีกว่าหรือ” นางสาวรสนา กล่าว
พร้อมเสนอแนะว่า อีกเพียง 5 ปี กทม.ก็จะได้เป็นเจ้าของโครงสร้างระบบรางของสายสีเขียวส่วนหลักทั้งสาย ซึ่ง กทม.จะได้รายได้ทั้งค่าเช่าพื้นที่ในทุกสถานี ค่าเชื่อมต่อกับพื้นที่ธุรกิจ รวมถึงค่าโฆษณาในขบวนรถและในสถานี ที่สามารถนำมาลดราคาค่าโดยสารลงได้ และยังสามารถนำมาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT ได้ทั้งระบบ ด้วยระบบตั๋วใบเดียว โครงสร้างราคาเดียว และไม่ให้ประชาชนต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ค่าโดยสารก็จะถูกลง
นอกจากนี้ นายชัชชาติ ยังควรแก้ปัญหาหนี้สินนี้ ด้วยการไปเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้รับคืนส่วนต่อขยาย 2 กลับไป และให้กระทรวงคมนาคม จ่ายหนี้ค่าเดินรถและเก็บค่าโดยสารเอง ไม่ต้องเอา กทม.ไปผูกพันเป็นหนี้เสียเอง อย่าไปรับเผือกร้อนมาให้ไหม้มือตัวเอง ดังคำพังเพยไทยที่ว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รอง เอากระดูกมาแขวนคอ”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: