กรุงเทพฯ – รัฐมนตรีช่วยคลัง เผย เดินหน้าแจกเงินหมื่นดิจิทัล พ.ค.นี้ หลังคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้ รัฐบาลออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อทำโครงการได้ ส่งเข้า ครม.พรุ่งนี้ ก่อนหารือบอร์ดนโยบายสัปดาห์หน้า
วันที่ 8 มกราคม 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบข้อซักถามกรณีการออก พระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต มายังกระทรวงการคลังแล้วว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงิน ดังกล่าว สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นไปตามอำนาจของคณะรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกา มีข้อสังเกตในบางข้อ เช่น การออกกฎหมายกู้เงิน จะต้องเป็นไปตามมาตรา 53 และมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นเรื่องของความคุ้มค่า หมายความว่า ต้องมีการประเมินผลได้ ทั้งก่อนและหลังโครงการ และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งประเด็นดังกล่าว ได้มีการพูดคุยกันในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุป
ในเรื่องของกลไกที่จะเป็นไปตามข้อกฎหมายตามมาตรา 53 คือ ต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤต จนไม่สามารถตั้งงบประมาณปกติมาดำเนินการได้ ซึ่งก็เป็นภาระหน้าที่ของทางกระทรวงการคลัง แล้วก็เป็นภาระหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายจะดำเนินการให้ครบถ้วน
ข่าวน่าสนใจ:
- "ทีเส็บ" และภาคีเครือข่าย ชวนคนไทยร่วมพลิกฟื้นเศรษฐกิจเชียงรายหลังวิกฤตน้ำท่วม
- ททท. จัดงานใหญ่ "วิจิตรเจ้าพระยา 2024" สวยงามตระการตา กระตุ้นการท่องเที่ยวส่งท้ายปีนี้
- ทีดีอาร์ไอ จัดเวิร์คชอป “ CONTENT CREATOR WORKSHOP: SYNERGY FOR CLEAN ENERGY”
- รมว.ท่องเที่ยว ชวนลอยกระทง "สีสันแห่งสายน้ำฯ" สร้างสรรค์และใส่ใจสิ่งแวดล้อม
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คาดว่าในสัปดาห์หน้า จะเรียกประชุม คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทฯ ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อหารือประเด็นข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
และในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันพรุ่งนี้ (9 ม.ค.) จะมีการหารือเรื่องนี้ด้วย ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินการต่อไป ส่วนการยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ นั้น กระทรวงการคลังยกร่างบางส่วนแล้ว
สำหรับกลไกที่จะเป็นไปตามข้อกฎหมาย มาตรา 53 คือ ต้องดำเนินการในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤต จนไม่สามารถตั้งงบประมาณปกติมาดำเนินการได้นั้น นายจุลพันธ์ ระบุว่า เป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงการคลัง และบอร์ดนโยบาย ที่จะดำเนินการให้ครบถ้วน ส่วนข้อเสนอแนะให้รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน จะต้องไปพิจารณาดู โดยต้องเชิญเลขาฯกฤษฎีกา ซึ่งเป็นบอร์ดนโยบายด้วย มานำเสนอต่อที่ประชุม เพื่อให้ทุกคนรับทราบถึงคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้สรุปว่า ความเห็นนั้น ๆ มีความหมายเช่นไร และควรดำเนินการอย่างไรต่อ เพื่อมีมติว่าจะเดินขั้นต่อไปอย่างไร
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังยืนยันว่า การใช้จ่ายเงินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต จะเป็นไปตามกรอบระยะเวลาเดิม หรือเดือน พ.ค.67 เพราะยังไม่มีเหตุให้เลื่อนเป้าหมายไปจากเดิม จนกว่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติมไปจากนี้ พร้อมย้ำว่า กลไกของโครงการฯ เป็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่โครงการสำหรับสงเคราะห์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้สภาวการณ์ของเศรษฐกิจไทย กลับไปสู่ระดับการเติบโตที่เต็มศักยภาพ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: