X

‘จุลพันธ์’ ชี้ แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย เร็ว-แรง ทำเงินเฟ้อติดลบ ปชช.เดือดร้อน

กรุงเทพฯ – รัฐมนตรีช่วยคลัง จับตาเงินฝืด ระบุ คุยผู้ว่าการแบงก์ชาติ เป็นภารกิจนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาก็คุยเป็นระยะ ยืนยัน แบงก์รัฐพยายามตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุดแล้ว 

วันที่ 8 มกราคม 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผ่านมา เร็วและแรง ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ก็ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างเร็วและสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในวงกว้าง และมีตัวเลขผลกำไรของกลุ่มธนาคารตามที่เป็นข่าว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นภาระที่ตกกับประชาชน

ในฐานะที่กำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ มีนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด โดยในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ของปี 2566 แบงก์รัฐทุกแห่งได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และปรับขึ้นเล็กน้อยเมื่อต้นปี 2567 อย่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR แค่ 25 สตางค์ จะพยายามตรึงกันอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบ

ส่วนของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น และตลาดเป็นการแข่งขันสมบูรณ์ ก็จำเป็นที่ธนาคารต่าง ๆ จะต้องอยู่ภายใต้การแข่งขันเดียวกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

“ตัวอย่างง่าย ๆ เลย อย่างตอนนี้อัตราเงินเฟ้อติดลบมา 2-3 เดือน ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เดือนล่าสุด (ธ.ค.66) ลบ 0.83% ซึ่งกระทรวงการคลังก็ติดตามอย่างใกล้ชิด ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปถอดตัวเลขดู โดยถอดราคาพลังงานออก เพราะแม้ว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบ เป็นเพราะรัฐบาลมีกลไกเข้าไปช่วยประชาชน โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน ที่ลดราคาลง แต่พอถอดตัวเลขออกมาแล้ว เงินเฟ้อจากลบ 0.83% ก็ยังลบอยู่ 0.15% และถ้าเงินเฟ้อติดลบอย่างต่อเนื่องและยาวไป ก็จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ ป็นสถานการณ์ที่กระทรวงการคลังจับตาดูใกล้ชิด” นายจุลพันธ์ กล่าว

สำหรับความเป็นไปได้ ในการหารือกับ ธปท. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า เป็นภารกิจของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เท่าที่ทราบ มีการพูดคุยกันเป็นระยะ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี จะมีโอกาสพบผู้ว่าการแบงก์ชาติหรือไม่

ทั้งนี้ ยอมรับว่าเ ป็นห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน คลังก็มีหน้าที่ทำในกรอบหน้าที่ภารกิจที่มีตามกฎหมาย แน่นอนว่าเงินเฟ้อติดลบ จะส่อไปในทิศทางที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวได้ แต่กลไกของรัฐก็มีหน้าที่ ที่จะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ให้ประชาชนสามารถอยู่ได้ รวมทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ต้องเร่งผลักดันให้ได้เร็วที่สุด

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"