กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี นำประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ เห็นชอบหลักการ 6 เรื่อง พร้อมกรอบวงเงินการดำเนินกิจกรรรมสำคัญ
วันที่ 9 มกราคม 2567 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567
นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบายก่อนการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย ในด้านต่าง ๆ ซึ่งในระยะแรกเริ่ม ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมด้านซอฟต์พาวเวอร์ เป้าหมายใน 11 สาขา โดยในวันนี้จะมีการพิจารณาแผนงานโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยในห้วงปีงบประมาณ พ.ศ 2567 และปีงบประมาณ พ.ศ 2568 ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการผลักดันให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้น และขอให้ทุกคนช่วยกันแสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ เพื่อที่รัฐบาลจะนำไปเร่งดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ที่ประชุมยังเห็นชอบเรื่องที่สำคัญ ดังนี้
1.เห็นชอบ ข้อเสนอโครงการของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เป้าหมาย ทั้ง 11 สาขา ประกอบด้วย สาขาเฟสติวัล ท่องเที่ยว อาหาร ศิลปะ ออกแบบ กีฬา ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ แฟชั่น และสาขาเกม โดยมอบหมายให้ สำนักงบประมาณพิจารณากรอบวงเงิน และหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไป
2.เห็นชอบ กรอบวงเงินงบประมาณ สนับสนุนผู้ประกอบการเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศ 3 เทศกาล วงเงิน 3 ล้านบาท มอบหมายกระทรวงวัฒนธรรม จัดทำคำของบประมาณไปยังสำนักงบประมาณ
3.เห็นชอบหลักการ งาน ‘Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567’ นายกรัฐมนตรีให้ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการเดินทาง ที่คาดว่าจะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศ จะต้องเตรียมความพร้อมทั้ง รถ เครื่องบิน ที่พัก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
4.เห็นชอบ ให้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ โดยมีหน้าที่ ดังนี้
1) บูรณาการและขับเคลื่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแผนการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ การจัดสรรงบประมาณ การดำเนินโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมีประสิทธิผล ลดความซ้ำซ้อน
2) ติดตามและเร่งรัดการดำเนินการ ทบทวน ปรับปรุง แก้ไข ยกเลิก จัดทำกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ 11 อุตสาหกรรม ของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ
3) ประสานงานและสร้างความร่วมมือระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์
และ 4) ประสาน และบูรณาการการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ 11 อุตสาหกรรม
5.เห็นชอบ แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม ในคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: