กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี ย้ำ รัฐบาลมีตัวชี้วัดชัดเจน ให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิมากขึ้น 3 เท่า ในเวลา 4 ปี เดินหน้าขยายตลาดส่งออก พร้อมตั้งเป้า สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท มุ่งให้ไทยเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง
วันที่ 12 มกราคม 2567 ภายหลังเดินทางกลับจากราขการที่ จ.เชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบนโยบายด้านการท่องเที่ยวและภาคเกษตร ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
โดยระบุว่า รัฐบาลมีเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท มุ่งให้ไทยเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง เรื่องที่ดำเนินการไปแล้ว คือ วีซ่าฟรีนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน พร้อมขยายเวลาพักสำหรับชาวรัสเซีย ซึ่งทำให้เราก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยกว่า 24 ล้านคน แต่นั่นไม่ใช่ตัวชี้วัดเดียวที่ต้องการเห็น จะต้องทำให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้น และใช้จ่ายต่อหัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง กลุ่มลูกค้าสูงอายุ กลุ่มพำนักระยะยาว กลุ่ม Digital Nomad และต้องทำให้พวกเขาสามารถอยู่ได้อย่างถูกกฏหมาย การเดินทางเข้า-ออก จากประเทศ ต้องสะดวก มีการจัดทำ Fast Track Visa ให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย มีการเดินทางที่สะดวก
ในช่วงที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้ท่าอากาศยานต่าง ๆ เปิดให้นานขึ้น เช่น เปิดสนามบินเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา
อีกเรื่องหนึ่งที่กำลังทดลองอยู่ คือ การขยายเวลาปิดสถานบริการ ซึ่งปัจจุบันได้นำร่อง 5 พื้นที่ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี และอำเภอ เกาะสมุย ซึ่งจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจ ลงไปในชุมชนมากขึ้น ซึ่งยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและอาจต้องปรับแก้กฎหมายเพื่อขยายผลต่อในอีกหลายพื้นที่ ในปีนี้และปีถัด ๆ ไป
ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงต้องสนับสนุนการท่องเที่ยวอยู่ และขอให้ขยายผลไปยังเมืองรองมากขึ้นด้วย นำจุดเด่นของแต่ละพื้นที่มาใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น Hardware เช่น สถานที่ วัฒนธรรม อาหาร หรือเป็น Software ที่ตนใช้เรียกการจัดกิจกรรม Festival หรือ Event ต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็น Soft Power ของแต่ละพื้นที่ ต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจมากขึ้น ให้มีการใช้สถานที่จัดประชุม เป็นเจ้าภาพแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก ในประเทศไทยให้ได้
“การดึงดูดการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ ๆ นี้ จะต้องคิดนอกกรอบ ต้องมีการออกไปโปรโมท ไปเชิญชวน จัดกิจกรรม Road Show ทำข้อมูลให้เข้าถึงง่าย และประสานงานกับหน่วยงานที่คอยกำกับดูแลความเรียบร้อย ความปลอดภัย ช่วยเหลือให้การเดินทาง จัดงานต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ง่าย One-stop service ขอให้ความสำคัญกับกิจกรรมต่าง ๆ การทำงานที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น High Season ตลอดทั้งปี” นายเศรษฐา ย้ำ
เดินหน้าขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตร ใช้หลัก ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังมอบนโยบายด้านการเกษตรว่า เป้าหมายด้านเกษตร รัฐบาลมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน จะทำให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิมากขึ้น 3 เท่า ใน 4 ปีนี้ ซึ่งต้องทำตั้งแต่ ดิน น้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ตลาด เงินทุน เทคโนโลยี และการแปรรูป ครบวงจร สำหรับพี่น้องเกษตรกร ในช่วงที่ผ่านมา ครม. ได้เห็นชอบการจ่ายเงินช่วยค่าเก็บเกี่ยว ไร่ละ 1,000 บาท 4.68 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท กรอบวงเงินรวมกว่า 54,336 ล้านบาท ผ่านบัญชีธนาคาร ธ.ก.ส. และช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ตัดอ้อยสด ลด PM2.5 120 บาท/ตัน ซึ่งมีชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 140,000 ราย
ทั้งนี้ ครม.มีมติพักหนี้เกษตรกรที่มีหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท ตามมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย พร้อมสนับสนุนแหล่งเงินทุนและทรัพยากรที่เหมาะสมในการประกอบอาชีพ และถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านการเงิน ให้สามารถบริหารจัดการหนี้สิน มีศักยภาพในการออมและ การลงทุนได้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
เรื่องของตลาดสินค้าเกษตร ช่วงที่ผ่านมาได้เดินหน้าเจรจาการค้า เพื่อเปิดตลาดใหม่ ๆ ให้กับพี่น้องเกษตรกรทุกกลุ่ม ทั้งพืช และปศุสัตว์ และได้ทราบมาว่าเราจะต้องให้ความสำคัญกับการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ด้วย แต่ในระยะยาว ขอให้นำหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ เพิ่มคุณภาพผลผลิต และลดต้นทุน การผลิตพัฒนาและทำธุรกิจผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปมูลค่าเพิ่มสูง เดินหน้าเปิดตลาดสินค้าเกษตรใหม่ ๆ ให้ได้ราคาดี
ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงบประมาณและขบวนการทำงานในการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยนวัตกรรมเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชในพื้นที่ไม่เหมาะสม หามาตรการหรือแรงจูงใจ ให้ประชาชนปลูกพืชที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุล มีประสิทธิภาพเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร อาทิ การสร้างฝายพาราซอยซีเมนต์ เป็นต้น
รวมถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นต่อพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจ สนับสนุนให้เกษตรมีที่ดินทำกิน นำที่ดินของรัฐไปสร้างประโยชน์ รวมถึงการแปลง สปก. ให้เป็นโฉนด ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ใหม่ ๆ ทำการเกษตรยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย ทั้งหมดนี้ เพื่อทำให้เกษตรกรเลี้ยงตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปจนถึงระดับประเทศ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: