X

‘ไทย-เยอรมนี’ เปิดศักราชใหม่สู่เป้าหมายการเป็น ‘หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์’

กรุงเทพฯ – ผู้นำไทย-เยอรมนี แถลงข่าวร่วม เดินหน้าความสัมพันธ์สู่ ‘หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์’ ผลักดันความร่วมมือ ด้านเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

วันที่ 25 มกราคม 2567 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมกันแถลงข่าว ภายหลังการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ โดยสรุปดังนี้

การเยือนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของประธานาธิบดีเยอรมนี ในรอบ 22 ปี ไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์กันมากว่า 162 ปี โดยเยอรมนีเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป (EU) ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ในอาเซียน ทั้ง 2 ประเทศยังเห็นพ้อง กำหนดเป้าหมายในการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership)

ทั้งสองให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านความยั่งยืน การรับมือกับภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งเยอรมนีพร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า เป็นร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ.2040 (2583) และขยายการลงทุนในอุตสาหกรรม EV เพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค รวมทั้งยังยินดีส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืนในไทยอย่างต่อเนื่อง และพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

การเยือนไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนี ยังนำคณะภาคเอกชนร่วมเดินทางมาด้วย โดยในระหว่างการพบกับภาคเอกชน นายกฯ ได้ให้ข้อมูล เกี่ยวกับศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยและโอกาสใหม่ ๆ รวมทั้งนโยบายและโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) โครงการยกระดับการขนส่งระบบรางและโลจิสติกส์ของไทย Ease of Doing Business และการสร้างทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา ซึ่งภาคเอกชนแสดงความสนใจในด้านงานสินค้านานาชาติ การรีไซเคิลและการผลิตเม็ดพลาสติกจากขยะ ซึ่งไทยพร้อมพิจารณาเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากเยอรมนีต่อไป

ส่วนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีขอการสนับสนุน สำหรับการเจรจากับสหภาพยุโรป เพื่อให้บรรลุขอยกเว้นตรวจลงตรา สำหรับการเดินทางเข้าเขตเชงเกน ให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทย โดยไทยถือเป็นจุดหมายปลายทาง ที่นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันชื่นชอบ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยเมื่อปี พ.ศ.2566 กว่า 700,000 คน และชาวเยอรมันได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา 30 วันแล้วด้วย

ช่วงเย็นวันนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนี มีกำหนดเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และจะไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริด เขื่อนสิรินธร และโครงการเกษตรยั่งยืนที่เป็นความร่วมมือระหว่างเยอรมนีกับไทย รวมทั้งเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติผาแต้มในวันพรุ่งนี้ (26 ม.ค.)

ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นโอกาสเปิดศักราชความสัมพันธ์และความร่วมมือ นำไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิด เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในทุกมิติอย่างแน่นแฟ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการในห้วงเดือนมีนาคมนี้ เพื่อสานต่อและผลักดันความร่วมมือ อันจะนำไปสู่การสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันต่อไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 10.00 น. ณ บริเวณสนามหญ้า หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีพร้อมภริยา ได้ให้การต้อนรับ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและภริยา ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล

ผู้นำทั้งสอง ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ จากนั้น แนะนำคณะรัฐมนตรี ลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน และร่วมหารือกลุ่มเล็ก ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ เห็นพ้องกันว่า ไทยและเยอรมนียังมีศักยภาพเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านการลงทุน ซึ่งภาคเอกชนเยอรมนีลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก และให้ความสนใจขยายการลงทุนเพิ่ม นายกฯ เชิญชวนภาคเอกชนเยอรมนีเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์

ด้านภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด นายกฯ เน้นย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่กับสิ่งแวดล้อม และพร้อมมีความร่วมมือกับเยอรมนีอย่างใกล้ชิดในด้านพลังงานสะอาด และยินดีที่ประธานาธิบดีเยอรมนีฯ จะเดินทางไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริด ที่ จ.อุบลราชธานี

ด้านการท่องเที่ยวและความสัมพันธ์ในระดับประชาชน นายกฯ ยินดีที่ไทยและเยอรมนี มีความร่วมมือในระดับประชาชนที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน เป็นกลุ่มที่เดินทางมานักท่องเที่ยวในไทยมากที่สุดในสหภาพยุโรป ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวไทยก็นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเยอรมนีเช่นกัน

ความร่วมมือในกรอบสหภาพยุโรป (EU) นายกฯ ขอรับการสนับสนุนจากเยอรมนี ในการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งประธานาธิบดีเยอรมนี พร้อมสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถบรรลุการเจรจาดังกล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"