กรุงเทพฯ – พรรคก้าวไกล ยืนยัน ไม่มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ชี้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ก่อปัญหาดุลยภาพระหว่างประชาธิปไตยกับสถาบันกษัตริย์ ยิ่งสร้างภาพลบ และอาจเพิ่มความขัดแย้ง
วันที่ 31 มกราคม 2567 นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่าการกระทำของ นายพิธา และพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
จากการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียง พร้อมสั่งการให้ยุติการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74
นายชัยธวัช ยืนยันว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลาย หรือแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากชาติ และกังวลว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองไทยในระยะยาวอีกด้วย เช่น
อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจ ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต อาจกระทบต่อความเข้าใจและการให้ความหมายต่อ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลักการสำคัญของระบอบการเมืองไม่มีความชัดเจนแน่นอน สิ่งที่เคยกระทำได้ในอดีต ทั้งในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือในสมัยระบอบประชาธิปไตย อาจกลายเป็นการล้มล้างการปกครองได้ในปัจจุบันและอนาคต กระทบการตีความว่าอะไรคือการล้มล้างการปกครอง มีความคลุมเครือทั้งในแง่การตีความข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเจตนา
ข่าวน่าสนใจ:
- ปิดตำนานนักเขียน "ตรี อภิรุม" ศิลปินแห่งชาติฯ เจ้าของผลงาน "นาคี"
- บุรีรัมย์ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ชี้ควรเพิ่มหลีกแข่งขันในไทยเชื่อเศรษฐกิจพุ่งแน่นอน (มีคลิป)
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
- กทม. ร่วม"ฟูกูโอกะ" เปิดงาน "Fukuoka Fair" ฉลอง 18 ปีเมืองพี่เมืองน้อง
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า คำวินิจฉัยในวันนี้ อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อดุลยภาพ ระหว่างประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในระบอบการเมืองไทยในอนาคต อาจทำให้สังคมไทยสูญเสียโอกาส ในการใช้ระบบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย ในการหาข้อยุติความขัดแย้งหรือความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคมในอนาคต
คำวินิจฉัยในวันนี้ จะไม่ได้กระทบเฉพาะพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่จะกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน อาจส่งผลกระทบให้ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เสียเอง
นายชัยธวัช ยังกล่าวกรณี ถ้ามีผู้ไปยื่นยุบพรรคก้าวไกล จะดำเนินการอย่างไรนั้น ว่า ไม่ได้กังวล แต่ก็ไม่ประมาท ทั้งนี้ ต้องรอเอกสารคำวินิจฉัยที่สมบูรณ์กอ่น เพื่อรับมือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ในทางกฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือว่า เป็นที่สิ้นสุด จะอุทธรณ์ต่อไม่ได้ และยังไม่ไปถึงเรื่องการยุบพรรค
สำหรับกรณี ส.ส.พรรคก้าวไกล ไปประกันตัวให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาคดี 112 ถือเป็นองค์ประกอบ ว่ามีเจตนาล้มล้างการปกครองนั้น มีปัญหาหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ซึ่งรับรองในรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า หลักที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อน ไม่ว่าจะถูกกล่าวหาข้อหาอะไร ก็ต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ตรงนี้ถือว่าขัดกัน และความจริงการประกันตัวผู้ต้องหา หรือผู้ที่ถูกกล่าวหา ไม่ว่าจะข้อหาใด ๆ เป็นการใช้สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมของบุคคลทุกคนไม่ได้มีข้อยกเว้น ว่าถูกแจ้งข้อกล่าวหานี้ เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ห้ามประกันตัว หรือจะมีความผิดไปด้วย ซึ่งพรรคไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้เอามาร้อยรัดกัน แล้วตีความเป็นเจตนา
ส่วนกังวลหรือไม่ ว่าจะมีการดำเนินคดีกับ ส.ส.ที่ลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งหนักกว่าการถูกยุบพรรค หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น การดำเนินการใด ๆ หลังจากนี้ที่เกินสมควร จะทำให้ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นปมขัดแย้งทางการเมืองไทยมากยิ่งขึ้นซึ่งพรรคก้าวไกลมีเจตนาที่จะยุติ ลดการนำประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้ามาเป็นประเด็นความขัดแย้งในสังคมไทย และข้อเสนอของพรรคก้าวไกล มีเจตนาที่จะไม่ทำให้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทำลายทางการเมืองซึ่งกันและกัน ไม่เปิดช่องให้ใครผูกขาดความจงรักภักดีไว้กับตัวเอง และอาศัยความจงรักภักดีนั้น แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างปฏิเสธให้ได้
นายชัยธวัช ยังถามว่า ถ้าศาลบอกว่า นโยบายการหาเสียงเรื่องแก้ ม.112 เป็นการลดสถานะของพระมหากษัตริย์ เข้ามาอยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง ให้มาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน ผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้น พรรคการเมืองที่รณรงค์หาเสียงว่า เป็นผู้จงรักภักดี อีกพรรคหนึ่งไม่จงรักภักดี หรือโจมตีว่า อีกพรรคหนึ่งมีเจตนาเป็นลบต่อพระมหากษัตริย์ หรือมีการขึ้นรูปพระราชวงศ์ในเวทีหาเสียง ถือว่าเป็นการลดทอนทำลาย ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เป็นกลางทางการเมืองหรือไม่
ด้านนายพิธา ยืนยันเจตนาว่า บริสุทธิ์ใจไม่มีวาระซ่อนเร้น และไม่ตั้งใจที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ ออกจากความมั่นคงแห่งชาติ
ทั้งนี้ มีความกังวล 2-3 เรื่อง คือ ความกังวลในนิยามของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และความกังวลเรื่องขอบเขต ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญ ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และความกังวลเกี่ยวกับการวินิจฉัยด้วยอะไร ที่ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงมาก ที่อาจจะมีเรื่องเจตนา การจินตนาการต่าง ๆ นานา เช่น การสันนิษฐานเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน สิทธิในการเข้าถึงการประกันตัว สิทธิรวมตัว เพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในสังคม ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องอนาคตของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย
จึงรู้สึกเสียดาย ที่เรามีโอกาสที่จะออกจากความขัดแย้ง ที่อาจมีคนนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาอยู่ในความขัดแย้ง แล้วใช้รัฐสภานี้ที่ไม่มีใครสามารถผูกขาดความคิดได้ ว่าควรจะเป็นลักษณะไหน แล้วหานิยามร่วมกัน ตอนนี้ก็เป็นนิยามที่ออกมาจากคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: