กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี แถลงความคืบหน้า แก้ไขหนี้ทั้งระบบ โดยนอกระบบ ลงทะเบียนกว่า 140,000 รายไกล่เกลี่ยสำเร็จกว่า 12,000 ราย มูลหนี้ลดลงกว่า 670 ล้านบาท ส่วนในระบบเร่งดำเนินการ ย้ำ หนี้ทั้งระบบ ต้องจบรัฐบาลนี้
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำคณะ แถลงข่าวการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า
ตามที่กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สิน ทั้งหนี้นอกระบบและในระบบ เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งต้องแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จให้จบภายในรัฐบาลนี้ ผ่านมาประมาณ 2 เดือน หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินการคืบหน้าไปมาก ตั้งแต่เปิดรับลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 มียอดลูกหนี้ลงทะเบียนมากกว่า140,000 ราย ยอดมูลหนี้รวมประมาณ 9,800 ล้านบาท เข้ากระบวนการไกล่ได้ 21,000 ราย และไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว12,000 ราย คิดเป็น 57% ของจำนวนที่เข้าสู่กระบวนการ มูลหนี้ลดลงกว่า 670 ล้านบาท
ข่าวน่าสนใจ:
- บุรีรัมย์ คริสตจักรเมืองบุรีรัมย์ จัดงานเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส ส่งความสุขก่อนปีใหม่อย่างยิ่งใหญ่
- พะเยา หนุ่มขโมยย่องฉกเงินร้านข้าวมันไก่ 3 ครั้งเจ้าของสุดทนแจ้งตรจับ
- สอ.สามัญศึกษาเพชรบูรณ์ประชุมใหญ่ โชว์กำไร 52 ล้าน พร้อมเลือกตั้งกรรมการและผู้ตรวจสอบกิจการ
- กาญจนบุรี พิธีตักบาตรพระ 10,000 รูป ฉลองตั้งเมือง 193 ปี พร้อมอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้มีพระคุณต่อประเทศชาติ
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในปัญหาหลัก คือ เจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลการลงทะเบียนไม่ครบถ้วนของลูกหนี้ หรือเจ้าหนี้ไม่เข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ย จึงขอให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบ ติดตามและช่วยเหลือ พร้อมขอให้ประชาชนเข้ามาให้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ต่อตัวเองด้วย เพื่อสามารถนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และกระบวนการไกล่เกลี่ยให้เร็วที่สุด
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สำหรับบันไดขั้นที่สอง ของการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระดมกวาดล้างผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ และรับจำนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โดยผิดกฎหมาย ซึ่ง สตช.ดำเนินการแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่24 พ.ย. – 4 ม.ค.66 และะครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 15 – 24 ม.ค.67 สามารถจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดได้มากกว่า1,300 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 40 ล้านบาท
ส่วนบันไดขั้นที่สาม มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ลูกหนี้ที่ผ่านการไกล่เกลี่ยแล้ว เพื่อให้สามารถพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เพิ่ม และไม่ต้องกลับมาเป็นหนี้นอกระบบซ้ำอีกในอนาคตแต่ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงสินเชื่ออยู่บ้าง ได้กำชับธนาคารทั้ง 2 แห่งแล้ว
และบันไดขั้นสุดท้าย ที่จะช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบไม่ให้กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก คือ การสร้างรายได้เพิ่ม ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ดังนั้น กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องร่วมกันพัฒนาฝีมือแรงงาน หาอาชีพ และสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ประชาชน
ในส่วนของหนี้ในระบบนั้น นายกฯ แบ่งกลุ่มลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม บางกลุ่มได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว แต่บางกลุ่มยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จ โดย
กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ลูกหนี้รหัส21) ได้รับการช่วยเหลือ ปิดบัญชีหนี้เสียแล้ว มากกว่า630,000 บัญชี มูลหนี้กว่า 4,000 ล้านบาท จะช่วยให้กลับมามีสถานะปกติในระบบเครดิตบูโร และสามารถกลับเข้าสู่ระบบการเงินได้ อีกทั้งยังมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้เอสเอ็มอี แล้ว มากกว่า 10,000 ราย มูลหนี้กว่า 5,000 ล้านบาท
กลุ่มที่ 2 คือ ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้มากเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งหนังสือขอความร่วมมือให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สูงจนเกินไป ไม่ควรเกินร้อยละ 4.75 ซึ่งมีสหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 80 แห่ง ทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาแล้ว คาดว่าจะช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ได้กว่า 3,000,000 ราย สำหรับลูกหนี้บัตรเครดิต เข้าร่วมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้แล้ว มากกว่า 150,000 บัญชี
กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง โดยเกษตรกรได้รับการพักชำระหนี้แล้วกว่า1,800,000 ราย มูลหนี้รวมกว่า 250,000 ล้านบาท ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษากองทุน (กยศ.) ขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วมากกว่า 600,000 ราย
กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่มีหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินมาเป็นระยะเวลานาน ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกหลักเกณฑ์การร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงิน กับ บริษัทบริหารสินทรัพย์แล้วและจะขยายให้ครอบคลุมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งธนาคารออมสินอยู่ระหว่างเจรจาผู้ร่วมทุน เพื่อเตรียมจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อการจัดตั้งแล้วเสร็จ ลูกหนี้กลุ่มนี้จะสามารถโอนขายไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้การช่วยเหลือแบบผ่อนปรนต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: