X

ปลูกจริง! ตรวจสอบได้! ‘โครงการปลูกป่าล้านไร่ กฟผ.’ มุ่งประชาชนได้ประโยชน์

กรุงเทพฯ – กฟผ. ยืนยัน โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม ปลูกป่าจริง ครอบคลุมพื้นที่แล้วเกือบ 2 แสนไร่ เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน พร้อมรับการตรวจสอบ เมื่อพบข้อร้องเรียนสั่งสอบทันที

นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2565 ร่วมกับพันธมิตรและประชาชนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเป็นการปลูกป่าในพื้นที่ของ กรมป่าไม้และกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ด้วยการปลูกฟื้นฟูสภาพป่า (200 ต้นต่อไร่) เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตอบสนองนโยบาย Carbon Neutrality ของประเทศ

โดยช่วงปี 2565-2566 สามารถดำเนินการปลูกป่าและบำรุงรักษาป่า คิดเป็นพื้นที่กว่า 188,692 ไร่ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ปลูกป่าแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการทำสัญญาจ้างปลูกและบำรุงรักษาป่าโดยตรงกับประชาชนในพื้นที่ เสริมสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม เกิดความหวงแหนป่า และสร้างเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนในพื้นที่

สำหรับการคัดเลือกประชาชนในพื้นที่มาเป็นผู้รับจ้างปลูกและบำรุงรักษาป่าในโครงการนี้ ดำเนินการผ่านการทำประชาคมหมู่บ้าน และกรมที่เป็นเจ้าของพื้นที่ จะออกหนังสือรับรองความเชี่ยวชาญในการปลูกและบำรุงรักษาป่าของผู้รับจ้าง กฟผ. จึงจะลงนามสัญญาจ้างบุคคลดังกล่าวได้ จากนั้น ผู้รับจ้างก็ดำเนินการปลูกและบำรุงรักษาป่า ตามรายละเอียดที่กำหนดในเงื่อนไขงานจ้าง

รองโฆษก กฟผ. ชี้แจงต่อว่า การลงพื้นที่ตรวจรับงานปลูกและบำรุงรักษาป่า จะต้องมีการจัดเตรียมข้อมูลพิกัดพื้นที่ และเอกสารประกอบการตรวจรับงานจ้าง พร้อมประสานนัดหมายผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งการลงพื้นที่เพื่อตรวจรับงานทุกครั้ง ต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย ร่วมกันลงพื้นที่ ดังนี้
1.หน่วยงานกรมเจ้าของพื้นที่ (เจ้าหน้าที่ประจำแปลงซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากอธิบดีกรมฯ ที่เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่)
2.ผู้รับจ้าง (คู่สัญญา) ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่
3.ผู้แทน กฟผ. (กรรมการตรวจรับ และทีมสนับสนุนการตรวจรับ)

โดยการตรวจรับงาน เป็นการสุ่มตรวจในพื้นที่ดำเนินการปลูกหรือบำรุงรักษาป่าทุกแปลง จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของพื้นที่ พร้อมสุ่มตรวจอัตราการรอดตายของต้นไม้ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของทั้ง 3 ฝ่าย และสอดคล้องกับแนวทางการตรวจแปลงสำรวจ และเก็บข้อมูลโครงการประเภทป่าไม้ ในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER)

ซึ่งการเบิกจ่ายค่าจ้างปลูกและบำรุงรักษาป่า จะจ่ายตามผลงานที่เกิดขึ้นจริงโดยจ่ายตรง กับประชาชนที่เป็นคู่สัญญากับ กฟผ. แต่หากพื้นที่ใดไม่มีการปลูกป่าจริงก็จะถูกยกเลิกสัญญา

นายชัยวุฒิ หลักเมือง ย้ำว่า กฟผ. ยึดมั่นและให้ความสำคัญ กับการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล คุณธรรม โปร่งใสตลอดมา โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ รวมถึงพร้อมรับการตรวจสอบจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก สำหรับเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา กฟผ. มิได้นิ่งนอนใจ โดยมีการตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงและอยู่ระหว่างกระบวนการสอบหาข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"