กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี ชี้แจง ย้ายอุเทนถวาย ต้องยึดหลักกฎหมาย แต่พร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ขณะที่กลุ่มนักศึกษาฯ ยื่นหนังสือคัดค้าน พร้อมเสนอ 6 ข้อเรียกร้อง
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลัง ชี้แจง กรณีศิษย์เก่าและนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ออกมาเดินขบวนเคลื่อนไหวคัดค้าน การย้ายที่ตั้งสถาบัน ไปยังพื้นที่อื่น ว่า ต้องรับฟังทุกความคิดเห็น และได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว ซึ่งนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะเป็นผู้แถลงรายละเอียดในช่วงบ่ายวันนี้ (27 ก.พ.67)
เมื่อถามว่า แนวปฏิบัติจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่การที่ได้รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ถือเป็นสิ่งสำคัญ
ยื่น 6 ข้อเรียกร้อง ค้านย้ายอุเทนถวาย
ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 10.00 น. ที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล กลุ่มนักศึกษาอุเทนถวาย สมาคมศิษย์เก่า และคณาอาจารย์ ราว 120 คน นำโดย นายทักษิต เรียบร้อย นายกสโมสรนักศึกษาฯ เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี คัดค้านการย้ายอุเทนถวาย
นายกสโมสรนักศึกษา มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ระบุว่า ขอให้ธำรงตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ ในการใช้พื้นที่เฉพาะกิจเพื่อการศึกษาวิชาช่าง ขอให้พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อสนับสนุนจัดทำร่าง ยกวิทยฐานะ ส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาที่ดิน พระราชทานอันเป็นที่ตั้งของ อุเทนถวาย ให้มีศักยภาพด้านความพร้อม ในการรองรับการพัฒนาสรรพความรู้ และวิทยาการสมัยใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างในยุคปัจจุบัน ขอให้ยกเลิกคำสั่ง ระงับคำสั่ง หรือไม่ออกคำสั่ง โยกย้ายนักศึกษาอุเทนถวายไปเรียนที่แห่งอื่น
พร้อมยื่นหนังสือคัดค้านที่ระบุเหตุผล และข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ดังนี้
1.ขอคัดค้านการย้ายเขตพื้นที่การศึกษา เขตพื้นที่อุเทนถวาย ถนนพญาไท ออกจากที่ดินพิพาท
2.พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อสนับสนุนจัดทำร่าง ยกวิทยฐานะส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาที่ดินพระราชทาน อันเป็นที่ตั้งของอุเทนถวาย ให้มีศักยภาพต้านความพร้อม ในการรองรับการพัฒนาสรรพความรู้และวิทยาการสมัยใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างในยุคปัจจุบัน ให้พร้อมต่อการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันเป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศชาติ จนเป็นที่ปรากฏต่อสังคมโลกทั่วไป
3.พิจารณามีคำสั่งให้ อุเทนถวาย มีสิทธิ์ในการบริหารจัดการด้านการเรียนการสอน และการพัฒนาสถานที่ ให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน แต่มีระบบการบริหารจัดการที่มีความเป็นเอกเทศ อิสระ และคล่องตัว สามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
***ต้องไม่มีเงื่นไข ให้การพัฒนาสถนศึกษาอุเทนถวาย ต้องอยู่ภายใต้ภาระผูกพันการอ้างสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ที่ดิน จากนิติบุคคล จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เพื่อสั่งให้ชะลอ หรือระงับได้
4.จะร้องขอความเป็นธรรมต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย เรื่องที่ดินพิพาทเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ที่อุทิศโดยพระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีเนื้อที่เป็นเศษเสี้ยวส่วนน้อย ของที่ดินของนิติบุคคล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่มีเหตุขัดข้องในการหยิบยกแปลความพระราชประสงค์ ผิดแผกแตกต่างไปจากประวัติความเป็นมา
อนึ่ง เพื่อบรรเทาพระราชภาระของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ชาวอุเทนถวายขอให้นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โปรดดำเนินการมุ่งเน้นยึดถือประโยชน์การศึกษา ให้เป็นที่ตั้งสำหรับการศึกษาวิชาช่างก่อสร้างเท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และยุติปัญหา
5.ขอให้ยกเลิกคำสั่ง ระงับคำสั่ง หรือไม่ออกคำสั่ง โดยมีใม่มีการโยกย้ายนักศึกษาอุเทนถวายไปเรียนที่แห่งอื่น งดรับนักศึกษาใหม่ รวมทั้งโยกย้ายคณะครู อาจารย์ บุคคลากร และเจ้าหน้าที่ ไปประจำการที่อื่น
6.ขอให้ออกหนังสือแต่งตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการและปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อเรียกร้อง โดย 3 ฝ่าย สัดส่วนเท่ากัน มีประธานและคณะกรรมการฝ่ายที่ 3 ที่มาจากบุคคลภายนอก ที่ไม่มีส่วนได้เสีย หรือมีประโยชน์ได้เสียกับคู่กรณี
ก่อนหน้าเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ทางกลุ่มได้ส่งตัวแทนยื่นหนังสือต่อ ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี และสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งจัดปราศรัย และอ่านแถลงการณ์ ที่บริเวณหน้าสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: