กรุงเทพฯ – ปรีดิยาธร-ณรงค์ชัย-คุรุจิต ทำหนังสือเปิดผนึกถึง นายกเศรษฐา ร้องทบทวนนโยบายพลังงาน พร้อมแนะ 5 จุดเสี่ยง ก่อนทำเศรษฐกิจพัง หลังบริหารผิดพลาด ประชาชนแบกหนี้สาธารณะ 220,000 ล้านบาท
วันที่ 1 มีนาคม 2567 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ร่วมส่งหนังสือเปิดผนึกเรื่อง ‘ความเสียหายของนโยบายพลังงานที่เป็นมา และกำลังจะเป็นไป ในรัฐบาลชุดนี้’ ให้แก่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อเวลา 12.00 น. ก่อนแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยมีสาระสำคัญ 5 ประการ ดังนี้
ห่วง หนี้กองทุนน้ำมันฯ พุ่งสู่ 84,000 ล้านบาท ใน 5 เดือน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุว่า เมื่อรัฐบาลปัจจุบันเริ่มเข้าบริหารงาน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีภาระหนี้สินอยู่ 48,000 ล้านบาท แต่เพียง 5 เดือนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2567 หนี้สินกองทุนน้ำมันฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็น 84,000 ล้านบาท
เนื่องจากกระทรวงพลังงาน กดราคาน้ำมันดีเซลลงจากลิตรละ 32 บาท เป็นลิตรละ 30 บาท และลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ลงอีกลิตรละ 2.50 บาท ทำให้กองทุนฯ ต้องชดเชยราคา และลดการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ รวมมาตรการตรึงราคาก๊าซ LPG ไว้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ข่าวน่าสนใจ:
- "ชวนน้องหนูมาดูโขน" 11 ม.ค. ฟรี เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568
- ตรัง จับแล้วมือค้อนทุบหัวฆ่าโหดพ่อค้าปลาสวยงาม กลางงานลอยกระทงกันตัง ทิ้งศพกลางงาน หลักฐานชัด จุดทิ้งมือถือ-โผล่กดเงินสดผู้ตาย
- ป.ป.ช.ลงพื้นที่การรุกล้ำทางเข้าและกีดขวางการจราจร หน้าด่านคลองลึก-ตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว
- THACCA ร่วมกับ วธ. สนับสนุน 220 ล้านบาท ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซอฟต์พาวเวอร์ไทย
หากปล่อยไปเช่นนี้ หนี้ของกองทุนน้ำมันฯ จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกจนถึงเพดานตามที่กฎหมายกำหนดกรอบไว้ที่ 110,000 ล้านบาท แม้เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของรถ แต่เมื่อถึงจุดที่เกินความสามารถที่จะชำระคืนรัฐบาล คงต้องนำเงินจากภาษีที่เก็บจากประชาชนทั้งประเทศ ไปล้างหนี้ดังกล่าว
ช่วงนี้ ที่ราคาน้ำมันตลาดโลกค่อนข้างนิ่ง และมีแนวโน้มลดลง จึงควรเรียกเก็บเงินเข้ากองทุน เพื่อคืนสภาพคล่องและลดหนี้
ด้านนายคุรุจิต นาครทรรพ ระบุว่า เฉพาะอุดหนุนดีเซลอย่างเดียว เงินไหลออกจากกองทุนฯ ประมาณ 9,900 ล้านบาทต่อเดือนเป็นอย่างต่ำ ภาระหนี้กองทุนน้ำมันฯ ส่งผลให้มีหนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้นราว 2.2.แสนล้านบาท การอุดหนุนราคาน้ำมันคงต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม หรือช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนจริง ๆ
โดยประมาณการ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ติดลบ 91,887 ล้านบาท แบ่งเป็นน้ำมันติดลบ 45,222 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG (ก๊าซหุงต้ม) ติดลบ 46,665 ล้านบาท
กฟผ.แบกหนี้เพิ่ม แตะ 137,000 ล้านบาท
จากราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตลาดโลก สูงขึ้นมาก เนื่องจากภาวะสงครามในยุโรป รัฐบาลก่อนจึงชะลอการปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เพื่อดูแลประชาชน โดยให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระราคาก๊าซ LNG ที่เพิ่มสูงขึ้นไว้ก่อน แล้วจึงจะค่อยทยอยผ่อนคืน กฟผ. โดยการขึ้นค่า Ft ทีละนิดในงวดถัด ๆ ไป
ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2556 หนี้ค่า Ft ที่ กฟผ.แบกรับไว้มียอดค้างอยู่ 110,000 ล้านบาท แต่พอรัฐบาลชุดใหม่รับงาน เป็นจังหวะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องอนุมัติปรับค่าไฟฟ้า ตั้งใจจะปรับลดจากงวดก่อน จากหน่วยละ 4.70 บาท เป็นหน่วยละ 4.45 บาท (ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566)
แต่รัฐบาลนี้ กลับประกาศกดราคาค่าไฟฟ้าลงไปอีก เหลือหน่วยละ 3.99 บาท มีผลให้ กฟผ.ต้องแบกรับหนี้เพิ่มขึ้น เป็น 137,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 หากปล่อยไปเช่นนี้ ในที่สุดคงจะต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปล้างหนี้จำนวนนี้ให้ กฟผ. เพื่อให้ กฟผ.ดำเนินกิจการต่อไปได้
จึงเสนอแนะรัฐบาล ปรับสูตรการคำนวณค่า Ft ให้เป็นไปตามเดิม คือ เมื่อต้นทุนสูงก็ต้องยอมรับภาระก่อน แต่เมื่อต้นทุนต่ำลงก็ต้องทยอยชำระหนี้ กฟผ.
แนะปรับสูตรราคาน้ำมัน อ้างอิงหน้าโรงกลั่นให้สะท้อนต้นทุน
สืบเนื่องจากรัฐบาลไทยในอดีต ออกนโยบายที่เป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อม วางแผนผลิตน้ำมันคุณภาพสูงขึ้น เป็นมาตรฐานยูโร 5 โดยจูงใจให้โรงกลั่นในประเทศทั้ง 6 โรง ลงทุนก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ ปรับกระบวนการผลิตให้ได้น้ำมันคุณภาพยูโร 5 ซึ่งใช้เงินลงทุนไปกว่า 50,000 ล้านบาท
ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาตรฐานรถยนต์ใหม่ให้รองรับคุณภาพน้ำมันใหม่ และกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการออกมาตรฐานบังคับใช้คุณภาพน้ำมันที่ลดกำมะถันลงให้เหลือไม่เกิน 10 ppm กับลดค่า NOx และฝุ่น PM ลงให้ไม่เกิน 8% ภายใน 5 ปี โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2567
โดยเป็นที่เข้าใจกันว่า กระทรวงพลังงานจะปรับสูตรคิดราคาน้ำมัน อ้างอิงที่หน้าโรงกลั่น ให้สะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุน แต่จนถึงบัดนี้ กระทรวงพลังงานภายใต้รัฐบาลใหม่ยังนิ่งเฉย แสดงท่าทีไม่ยอมรับคุณภาพน้ำมันสะอาดใหม่นี้ และไม่พิจารณาปรับราคาอ้างอิงหน้าโรงกลั่น
จนภาคเอกชน กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต้องออกมาเรียกร้อง ขอให้ปรับสูตรราคาอ้างอิงดังกล่าว หากรัฐบาลเพิกเฉยไม่ทำอันใด ในที่สุดผู้ค้าน้ำมันคงจะไม่ยอมรับในราคาอ้างอิงในแบบเดิมที่รัฐกำหนด และเลือกใช้วิธีกำหนดราคาขายหน้าสถานีบริการเอง ซึ่งอาจมีผลเสียต่อผู้บริโภคมากกว่า และโรงกลั่นก็จะไม่ยอมลงทุนอะไรไปก่อนอีกตามที่รัฐขอความร่วมมือในอนาคต นอกจากนี้ นโยบายของรัฐในสายตาของนักลงทุนก็จะขาดความน่าเชื่อถือและเสื่อมถอยลงด้วย
นโยบายน้ำมัน สวนทางอีวี
รัฐบาลในอดีตและปัจจุบัน มีนโยบายกระตุ้นให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาควันพิษในอากาศ แต่การลดราคาน้ำมันทุกชนิ ย่อมเป็นการกระตุ้นให้มีการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างฟุ่มเฟือย และก่อให้เกิดควันพิษมากขึ้น
การลดราคาน้ำมัน เป็นนโยบายที่ขัดหรือย้อนแย้ง กับการดูแลคุณภาพอากาศและพลังงานสะอาดอย่างชัดเจน จึงไม่แน่ใจว่า รัฐบาลนี้ตั้งใจที่จะลดปัญหาควันพิษในอากาศเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน กับจะส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จริงหรือไม่
Single Pool Gas ทำต้นทุนเพิ่ม 40% แนะกลับไปใช้สูตรเดิม
ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 กระทรวงพลังงานใช้กลเม็ดคิดเลขหาต้นทุนที่ต่ำลงสำหรับก๊าซใน Pool Gas ที่ใช้ผลิตไฟฟ้า โดยมิได้เป็นการจัดหาและนำก๊าซต้นทุนต่ำมาเพิ่มเติมใน Pool Gas กล่าวคือกระทรวงพลังงานปรับสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas ใหม่ โดยนำราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาก๊าซจากพม่าและก๊าซ LNG) ส่วนที่เคยส่งเป็นวัตถุดิบไปเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ คืออีเทนและโพรเพนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เอามารวมคำนวณเป็นราคาใน Pool Gas เพื่อให้ได้ราคาเฉลี่ยสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำลง
ผลที่ตามมา คือ ราคาก๊าซส่วนที่แยกไปใช้ผลิตเป็นวัตถุดิบในโรงแยกก๊าซ (GSP) เพิ่มสูงขึ้นทันที อันส่งผลต่อการทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง และทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของปิโตรเคมีทั้งระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทบความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วย
ขณะที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีอำนาจเพียงกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติก็แต่เฉพาะก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นพลังงานเท่านั้น มิได้มีอำนาจกำหนดราคาก๊าซที่ใช้เป็นวัตถุดิบ นโยบายที่มอบให้ กกพ.นี้จึงสุ่มเสี่ยงที่จะใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายด้วย
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ชี้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ประเทศไทยใช้เวลามากกว่า 30 ปี ในการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ พลาสติก สิ่งทอ และอะไหล่รถยนต์หลายพันกิจการ ก่อให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมระดับโลกขึ้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง และความโชติช่วงชัชวาลขึ้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก พร้อมช่วยทำให้ GDP และการส่งออกของไทยเติบโตมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง
ซึ่งในปี 2564 เฉพาะกลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มแปรรูปพลาสติก มียอดขายรวมถึง 1,720,000 ล้านบาท หรือ 10.7% ของรายได้ประชาชาติของไทย มีการจ้างงานรวมกว่า 400,000 คน ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นมากทันที โดยเพิ่มขึ้นระหว่าง 30-40% เพราะการกำหนดสูตรราคาก๊าซใหม่นี้จะกระทบอย่างรุนแรงต่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างแน่นอน หากปล่อยไว้นานเกินไปจะกระทบถึงฐานะของกิจการจนต้องทยอยปิดลง กระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้าง
“ผมเชื่อว่ารัฐบาลนี้ ไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดผลเสียในลักษณะดังกล่าว และยังไม่สายเกินไป ที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยการกลับไปใช้สูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้อยู่เดิม พวกกระผมเข้าใจดีว่า รัฐบาลมีความตั้งใจ ที่จะให้ผู้บริโภคได้ใช้น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม LPG และไฟฟ้าที่ราคาถูก แต่ในการดำเนินนโยบายเพื่อความตั้งใจดีนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงผลเสียที่เกิดขึ้นด้วย
พวกกระผมเห็นว่าผลเสียที่กำลังเกิดขึ้นใหญ่หลวงทีเดียว และจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว กับก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง จึงได้เขียนหนังสือถึง ฯพณฯ ด้วยเห็นว่า ฯพณฯ เป็นคนเดียวที่สามารถบันดาลให้มีการปรับแก้นโยบายของกระทรวงพลังงานทุกเรื่องที่กล่าวถึงนั้นได้ ฯพณฯ ที่มุมานะพยายามทำงานให้ประเทศชาติอย่างเต็มกำลัง และหยุดยั้งความเสียหายต่อประเทศชาติในครั้งนี้ได้” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวทิ้งท้าย
ชมรายละเอียดการแถลงข่าวที่ :
https://www.youtube.com/live/bm_XlZhlA4o?si=9mg8CMFDT0eSbojq
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: