กรุงเทพฯ – คณะกรรมการการเลือกตั้ง ติวเข้มสื่อรับเลือก ส.ว. คาด มีผู้สมัครนับแสนคน จาก 20 กลุ่มอาชีพที่จะเลือกกันเอง ประชาชนหมดสิทธิลงคะแนน เตือน พรรค-กลุ่มการเมืองห้ามหนุนหลัง/ส่งคนลงสมัคร
วันที่ 4 มีนาคม 2567 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวระหว่าง เป็นประธานเปิดการประชุมให้ความรู้สื่อมวลชน ถึงการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า การเลือก ส.ว.ครั้งนี้ จะเป็นการเลือกแบบเต็มรูปแบบ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2560 กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการเลือกกันเอง โดยผู้สมัครด้วยตนเองใน 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
วาระของ ส.ว.ชุดปัจจุบัน จะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.
– อีก 15 วันหลังจากนั้น จะมีการรับสมัคร ส.ว.เป็นเวลา 5 วัน
– อีก 5 วัน จะเป็นการประกาศรายชื่อผู้สมัคร
– หลังจากปิดการรับสมัครไม่เกิน 20 วัน จะต้องจัดให้มีการเลือกระดับอำเภอ
– จากนั้นอีก 7 วัน จัดให้มีการเลือกระดับจังหวัด
– ต่อมาอีก 10 วัน จะเลือกระดับประเทศ
– คาดว่าจะรู้ผลภายในเดือนกรกฎาคม 67 แต่เกฎหมายให้ กกต.รอไว้ก่อน 5 วัน เผื่อมีประเด็นที่จะต้องทบทวน แล้วจึงประกาศผล
ตรวจสอบคุณสมบัติ สมัครให้ถูกกลุ่ม
นายอิทธิพร ยังฝากถึงผู้ที่จะลงสมัคร ให้ศึกษาและตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ในการสมัครให้ดีและสำรวจตัวเองว่า มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อาชีพ ตามกลุ่มอาชีพใดเพราะมีถึง 20 กลุ่มอาชีพ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการสมัครให้ถูกกลุ่ม และศึกษารูปแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และบทกำหนดโทษ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งมีการออกระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ฉบับแก้ไขออกมาแล้ว หากมีข้อสงสัย ต้องการข้อมูล สามารถสอบถามได้จาก สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด หรือ สายด่วนกกต.1444 หรือ Application Smartvote
สำหรับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายระบุว่า กกต.จะต้องแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบ ดังนี้
1.การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการเลือกว่า ถูกต้องหรือไม่
2.มีการกระทำใดที่มีการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.หรือไม่
3.มีการกระทำใดที่ทำให้การเลือก ส.ว.ไม่ทุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่
โดยจะได้รับการสนับสนุนชุดปฏิบัติการข่าว และชุดเคลื่อนที่เร็ว หากพบการกระทำความผิดสามารถแจ้งไปที่กกต.จังหวัด หรือ แอปพลิเคชั่นตาสับปะรดได้
และหากบุคคลใดสามารถแจ้งเบาะแส อันนำไปสู่การกระทำที่ไม่ทุจริตและเที่ยงธรรม มีสิทธิได้รับเงินรางวัลตามระเบียบของ กกต. จำนวนเงินตามลำดับขั้น ว่าเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีอย่างไรมีจำนวนสูงสุด 1 ล้านบาท
คาด มีผู้สมัครนับแสนคน
ประธาน กกต.คาดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีผู้สมัครประมาณ 100,000 คน เป็นตัวเลขประมาณการในเบื้องต้น แต่ถ้ามีตัวเลขมากกว่านี้ ก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะประชาชนที่สนใจสามารถสมัครได้และถึงเวลาก็ไปเลือกกันเอง กับกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ยิ่งหากมีจำนวนมาก ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งได้แจ้งไปยัง กกต.จังหวัด ว่า หากประชาชนสนใจจะลงสมัคร สามารถสอบถามขั้นตอนและข้อมูลได้ที่กกต.จังหวัด
ทั้งนี้ จะมีการเลือกทั้งหมด 3 ระดับ คือ
– การเลือกระดับอำเภอ อำเภอหนึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้ได้รับเลือกคะแนนสูงสุด 3 คน 1 อำเภอ 20 กลุ่มเป็น 60 คน โดยมีอำเภอทั่วประเทศ 928 อำเภอ รวม 55,680 คน ทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการเลือกระดับจังหวัด
– การเลือกระดับจังหวัด จะเลือกผู้ได้คะแนนสูงสุด 2 คน ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ที่ได้รับเลือกไปสู่การเลือกระดับประเทศ รวม 3,080 คน จากนั้นเป็นการเลือกระดับประเทศ
– การเลือกระดับประเทศ จะเลือกให้เหลือ 200 คน จาก 20 กลุ่ม ๆ ละ 10 คน
ต้องสมัครเอง แนะนำตัวได้ ห้ามการเมืองส่ง/หนุนหลัง
ส่วนที่เริ่มมีการเปิดตัวของผู้มีชื่อเสียง ว่าจะลงสมัครและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ตัวเองแล้วนั้นประธาน กกต.ระบุว่า ทำได้ เพราะเป็นเรื่องปกติที่แสดงความสนใจ ไม่มีใครห้าม และยังไม่มีข้อระวังอะไร แต่การที่จะทำให้เข้าใจว่า ผู้สมัครนั้น ๆ มีพรรคการเมืองหนุนหลัง ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งในมาตรา 77 กำหนดโทษเอาไว้แล้ว อะไรก็ตามที่ไม่เป็นการดำเนินการสมัคร หรือดำเนินการด้วยตัวเอง ก็ถือว่าเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมาย เช่นเดียวกับคณะก้าวหน้า ที่ดำเนินการเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ไม่สามารถยึดโยงกันได้ เพราะเป็นการให้ประชาชนผู้สนใจมาสมัคร จึงขอให้ยึดมั่นในคำนี้ แต่จะนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ ยังไม่แน่ใจ
สำหรับการตรวจสอบของ กกต.นั้น ไม่จำเป็นต้องมีผู้มายื่นคำร้อง หากมีข้อเท็จจริงว่า กระทำการที่เข้าข่ายหรืออาจจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย กกต.สามารถตั้งเรื่องตรวจสอบเองได้เลย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: