เมลเบิร์น – นายกรัฐมนตรี ใช้เวทีการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ หารือทวิภาคี กับผู้นำหลายประเทศ สานต่อความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ผลักดันการค้าการลงทุน ความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เสริมสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน
วันที่ 5 มีนาคม 2567 เวลา 11.50 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งเร็วกว่าไทย 4 ชั่วโมง) ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าเมลเบิร์น (Melbourne Convention and Exhibition Center : MCEC) นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือทวิภาคีกับ นายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์
นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้พบ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียอีกครั้ง นับตั้งแต่ช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 เมื่อปี 2566 รวมถึงยังเป็นโอกาสในการต่อยอด จาการเยือนประเทศไทยของ พลเอกเดวิด เฮอร์ลีย์ ผู้สำเร็จราชการแห่งออสเตรเลีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือตามแผนปฏิบัติการร่วม ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ตลอดจนสาขาที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพร่วมกัน อาทิ การส่งเสริมการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยนายกฯ ได้กล่าวเชิญนายกฯ ออสเตรเลีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ด้วย ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมาเยือนจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ด้านนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เชื่อมั่นว่า ทั้งสองประเทศเป็นมิตรประเทศที่ดีร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ไทยถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของออสเตรเลีย
ข่าวน่าสนใจ:
- "ตรังโมเดล" โกโก้สร้างรายได้ให้เกษตรกร กิโลกรัมละ 8 บาท ภาคเกษตร-เอกชนร่วมมือเปิดจุดรับซื้อ 11 แห่ง
- นายกฯ "อิ๊ง" เปิดงานออนซอนกลองยาวชาววาปี สานตำนานเมืองวาปีปทุม 142 ปี
- นครพนม น้องขวัญ นำทัพกลุ่มนครพนมร่วมใจ เปิดตัว ส.อบจ.นครพนม ทั้ง 30 เขต
- นายกฯ พบปะนักเรียนจากทั่วอีสาน ชูโครงการ "หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน" เพิ่มโอกาสชีวิต
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้
♦ ด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เห็นพ้องในการส่งเสริมการค้าทวิภาคี โดยเฉพาะการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) ซึ่งเติบโตมากถึงร้อยละ 186 โดยจะปรับปรุงความตกลงให้ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันมากขึ้น โดยนายกฯ เน้นย้ำว่า ไทยมีจุดเด่นในการเป็นศูนย์กลางความมั่นคงด้านอาหารและผลิตภัณฑ์ การแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ (medical and wellness) รวมทั้งมีโครงการ Landbridge ที่สำคัญต่อการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างเอเชียตะวันออกและมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไทยให้ความสนใจที่จะส่งเสริมการลงทุนและเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากออสเตรเลียในด้านเกษตรกรรม พลังงานสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอัจฉริยะ
♦ ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยคำนึงถึงร่างกฎหมายกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ (New Vehicle Efficiency Standard: NVES) ของรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกรถยนต์ไปยังออสเตรเลียมากกว่า 200,000 คันต่อปี และมีรถกระบะเป็นสินค้าส่งออกหลัก โดยนายกฯ ได้ขอให้นำมาตรฐานใหม่ไปใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกมีเวลาในการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นด้านสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน
♦ ด้านการท่องเที่ยวและการศึกษา นายกฯ พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว การจัดทำ MoU ด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเสนอแนะให้มีการส่งเสริมเที่ยวบินตรงระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนโควตา Work and Holiday Visa ไทย-ออสเตรเลีย ขณะที่ด้านการศึกษา นายกฯ ยินดีส่งเสริมการตั้งสาขาของสถาบันการศึกษาออสเตรเลียในไทย ส่งเสริมหลักสูตรอาชีวศึกษา โดยเน้นการแลกเปลี่ยนบุคลากรและร่วมพัฒนาหลักสูตร รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราระหว่างกันเพื่อตอบโจทย์ความร่วมมือทางการศึกษา
♦ ด้านความมั่นคงและด้านแรงงาน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการทหาร และ พัฒนาบุคลากรทางการทหารระหว่างกัน รวมทั้งยินดีกับความร่วมมือภายใต้โครงการ ASEAN-Australia Counter Trafficking (ASEAN-ACT) และการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ขณะที่ด้านแรงงาน นายกฯ พร้อมอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานของทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงกลุ่ม digital nomads จากออสเตรเลียมาไทย และแรงงานจากไทยไปออสเตรเลียที่ขาดแคลน ขณะเดียวกันได้เสนอให้ออสเตรเลียพิจารณาถึงการจ้างงานชั่วคราวของเกษตรกรชาวไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งอาจริเริ่มเป็นโครงการนำร่องหรือแต่ละพื้นที่ที่มีความต้องการแรงงานได้
♦ ด้านความร่วมมือพหุภาคี นายกฯ กล่าวว่า ออสเตรเลียสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสามารถร่วมมือกับอนุภูมิภาคฯ ในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายสนใจและสอดคล้องกับบริบทร่วมกันได้ โดยไทยพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดในการดำเนินการตามแผนพัฒนาร่วมระหว่างออสเตรเลียและ ACMECS เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนในอนุภูมิภาค
ไทย-ลาว ร่วมแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน และอาชญากรรมข้ามชาติ
ก่อนหน้านี้ เวลา 11.20 น. (ตามเวลาท้องถิ่นเมืองเมลเบิร์น) นายกรัฐมนตรี พบหารือกับ นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
นายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ยินดีที่ทั้งสองประเทศเริ่มโครงการเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนแล้ว ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่หน่วยงานของฝ่ายลาว โดยทางฝ่ายไทยพร้อมสนับสนุนฝ่ายลาวเพิ่มเติม
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่
♦ ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเเละการเดินทางระหว่างกัน นายกฯ ผลักดันแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง 6 ประเทศ สนับสนุนแคมเปญ ‘ปีแห่งการท่องเที่ยวลาว (Visit Laos Year 2024)’ โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องห ารือในรายละเอียดต่อไป และขอให้ฝ่ายลาวเร่งรัดการกำหนดที่ตั้งของ Common Control Area (CCA) ในฝั่งลาว เพื่อลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย ในการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยฝ่ายไทยเห็นควรว่าให้ตั้งที่บริเวณมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) เป็นที่แรก
ตามที่ฝ่ายลาวมีคำขอ ไทยยินดีสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในการซ่อมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) และไทยพร้อมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี ของสะพานในปีนี้
♦ ด้านการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ นายกฯ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหายาเสพติด และการฉ้อโกงออนไลน์ (Online scam)
นายกฯ ไทย-มาเลเซีย ผลักดันความร่วมมือรอบด้าน และสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เวลา 09.10 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครเมลเบิร์น) นายเศรษฐา ทวีสิน พบหารือกับ ดาโต๊ะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
โดยนายกรัฐมนตรี เสนอแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง 6 ประเทศ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ และฝ่ายมาเลเซียก็ยินดีรับนโยบายนี้
นายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับค่าราคาบัตรโดยสารเครื่องบินที่ราคาสูง รวมทั้งช่วงเวลา Take off ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม ในโอกาสนี้ ไทยและมาเลเซียพร้อมอำนวยความสะดวกด้านการผ่านแดน พร้อมทำให้เกิดเป็นผลรูปธรรมชัดเจน
ฝ่ายมาเลเซียพร้อมให้การสนับสนุน การลงทุนด้านความปลอดภัยทางอาหาร และอาหารฮาลาลของไทย
นายกฯ ยังใข้โอกาสนี้ หารือเกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อความสงบสุข โดยนายกฯ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การลงพืนที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเปิดโอกาสการท่องเที่ยว คู่ขนานไปกับด้านความมั่นคง ซึ่งนายกฯ มาเลเซีย เห็นด้วยว่า เมื่อเศรษฐกิจดี จะเกิดความเชื่อมั่น รวมถึงหารือเรื่องยางพารา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: