เมลเบิร์น – นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมเต็มคณะ ผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย ผลักดันความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในทุกมิติ และวาระสีเขียว เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของอาเซียนและออสเตรเลีย
วันที่ 6 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. (เวลาท้องถิ่นนครเมลเบิร์น ซึ่งเร็วกว่าไทย 4 ชั่วโมง) ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าเมลเบิร์น (Melbourne Convention and Exhibition Centre : MCEC) นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยผู้นำอาเซียน และนายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เข้าร่วมการประชุมเต็มคณะ ผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย (Leaders’ Plenary) ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ภายใต้หัวข้อ ‘ASEAN-Australia Cooperation under ASEAN’s Three Community Pillars’
บรรดาผู้นำ ต่างยินดีที่อาเซียนและออสเตรเลีย ร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย โดยออสเตรเลียนับเป็นประเทศแรก ที่ได้รับสถานะประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือให้ใกล้ชิดมากขึ้น จนนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) พร้อมเสนอให้ที่ประชุม ใช้โอกาสที่สถานการณ์โลกปัจจุบัน แบ่งเป็นหลายขั้ว กระชับความร่วมมือทั้งภายในภูมิภาคและระดับโลก เพื่อนำมาซึ่งสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองของอาเซียนและออสเตรเลีย ผ่านการผลักดันความร่วมมือ
นายกรัฐมนตรี ระบุ 2 ประเด็นเร่งด่วนซึ่งจะทำให้เกิดสันติสุข และความมั่นคง ดังนี้
ประการแรก การส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในทุกมิติ (seamless connectivity) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาเซียนและออสเตรเลียได้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพอย่างเต็มที่ ผ่านการสนับสนุนความเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ ดังนี้
ข่าวน่าสนใจ:
1.ความเชื่อมโยงการค้าและด้านการลงทุน ซึ่งจะส่งเสริมมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน ผ่านการเชื่อมโยงตลาดการค้าและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งกรอบ RCEP และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Area: AANZFTA)
2.ความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการขนส่งอย่างไร้รอยต่อ โดยเสนอให้ออสเตรเลียซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านระบบการจัดการท่าเรือ กระชับความร่วมมือกับอาเซียน ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาเอกสารแนวทางสำหรับท่าเรืออัจฉริยะ (Guidelines on Smart Ports) รวมทั้งเชิญชวนออสเตรเลียเข้ามาร่วมลงทุนใน โครงการ Landbridge EEC ระบบขนส่งทางราง และสนามบินด้วย
3.ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล ผ่านการลงทุนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันอาเซียนกำลังพัฒนากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Economy Framework Agreement: DEFA) ที่ถือเป็นกรอบข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลฉบับแรกของโลก และคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนได้ 2 เท่า เป็น 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมหวังว่าออสเตรเลียจะใช้ข้อริเริ่มออสเตรเลียสำหรับอาเซียน (Aus4ASEAN) เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล และการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของอาเซียนในอนาคตด้วย
4.ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ด้วย Soft power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (creative industries) ต้องการการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ควบคู่กับการส่งเสริมการไปมาหาสู่ระหว่างกันของประชาชน ซึ่งไทยหวังว่าทุนจากออสเตรเลียที่มอบให้นักเรียนในอาเซียน และการจัดตั้งศูนย์ ASEAN – Australia จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม และการอบรมเพิ่มพูนทักษะ ระหว่างกันมากยิ่งขึ้น รวมทั้งหวังว่าออสเตรเลียจะอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าให้กับประเทศในอาเซียน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการดำเนินธุรกิจระหว่างกันให้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ประการที่สอง การส่งเสริมวาระสีเขียวในภูมิภาค โดยสนับสนุนการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งออสเตรเลียสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับอาเซียน ในการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า การลงทุนในพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน การเงินสีเขียวผ่านพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน และการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหวังว่าออสเตรเลียจะร่วมแบ่งปันเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการจัดการคาร์บอน และตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อรองรับยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (The ASEAN Strategy for Carbon Neutrality)
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียังแสดงเจตนารมณ์ ที่จะร่วมมือกับทุกฝ่าย ในการกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน เพื่อมุ่งไปสู่ภูมิภาคที่เชื่อมโยงและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: