คานส์ – นายกรัฐมนตรี เดินทางด้วยเที่ยวบินพาณิชย์ พร้อมการ์ดชาวฝรั่งเศส เพื่อไปร่วมงานและโชว์วิสัยทัศน์ ศักยภาพ 3 โครงสร้างพื้นฐานของไทย ในงานอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ ที่เมืองคานส์
วันที่ 12 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุข้อความผ่านแอปพลิเคชัน X บัญชี @thavisin ว่า “เช้านี้ มีกำหนดการเดินทางไปเมืองคานส์ แต่บังเอิญเครื่องบินเกิดขัดข้อง ต้องตัดสินใจขึ้นเครื่องพาณิชย์ที่ฝรั่งเศส ไปกับการ์ดฝรั่งเศสกันสองคน แต่ไม่เป็นไร งานมาก่อน
เพราะงานมหกรรมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ (MIPIM 2024) The Global Urban Festival เป็นงานมหกรรมอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก มีรัฐมนตรีจากทั้งประเทศฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เยอรมนี และโอมาน นักลงทุนกว่า 6,500 ราย รวมทั้งผู้เข้าร่วมจากทั้ง องค์กรของรัฐ สถาบันการเงิน และบริษัทชั้นนำจาก 90 ประเทศ ทั่วโลกกว่า 22,500 คนถือเป็นงานสำคัญที่พลาดไม่ได้ ซึ่งผมจะกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “better infrastructure in an age of risk, scarcity and emergency” จะแสดงวิสัยทัศน์แบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่งาน“
นายกฯ ย้ำศักยภาพ 3 โครงสร้างพื้นฐานของไทย ‘ศูนย์กลางการบิน-แลนด์บริจด์-พลังงานสีเขียว’
เวลา 11.10 น. (ตามเวลาท้องถิ่นเมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 6 ชั่วโมง) ณ Palais des Festivals เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมพิธีเปิดงาน ‘มหกรรมอสังหาริมทรัพย์ระดับนานาชาติ (MIPIM 2024)’ และกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาหัวข้อ ‘Better Infrastructures in an Age of Risk, Scarcity and Emergency’ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ รัฐบาลส่งเสริมความเท่าเทียมกันผ่านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเชื่อมั่นว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าและการเข้าถึงทุกภาคส่วน นำไปสู่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งไม่เพียงสำหรับผู้ที่อาศัยในเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ยังมอบโอกาสให้กับทุกคนในทุกพื้นที่ด้วย
ไทยเปิดท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เมื่อ 18 ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูสู่ประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงทศวรรษก่อนที่สนามบินจะสร้างแล้วเสร็จ มีจำนวนนักเดินทางเพิ่มขึ้นที่ 71% และทศวรรษต่อมา มีการเติบโตกว่า 110% ในหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก
ความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐาน ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมหลายมิติ รวมถึงด้านอสังหาริมทรัพย์ด้วย ซึ่งในยุคที่มีความเสี่ยงรอบด้าน ความขาดแคลน และสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนถือเป็นสิ่งล้ำค่าที่สามารถสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันและทำหน้าที่เป็นกระดูกสันหลังที่สำคัญสำหรับสังคม นายกรัฐมนตรีจึงได้แบ่งปันวิสัยทัศน์ของรัฐบาลและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลัก ได้แก่
ด้านศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) รัฐบาลวางแผนที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินหลักของภูมิภาคภายในทศวรรษนี้ ไทยตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคอินโดจีน ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เมืองใหญ่ ๆ ทั่วเอเชียใช้เวลาบิน 4 ถึง 6 ชั่วโมง ซึ่งกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว ได้ต้อนรับผู้โดยสารมากกว่า 60 ล้านคนต่อปี จึงต้องการขยายขีดความสามารถให้รองรับนักเดินทางได้มากขึ้น โดยมีแผนจะขยายสนามบินที่มีอยู่และสร้างสนามบินใหม่ ทั้งการขยายสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเพื่อเพิ่มอาคารผู้โดยสารใหม่ และสร้างรันเวย์อีก 2 แห่ง เมื่อสร้างเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี
รัฐบาลจะสร้างสนามบินใหม่อีก 2 แห่ง ในภาคเหนือและภาคใต้ โดยสนามบินนานาชาติล้านนา (Lanna International Airport) จะเป็นสนามบินแห่งที่สองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่คึกคักในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ ขณะที่สนามบินนานาชาติอันดามัน (Andaman International Airport) ในจังหวัดพังงา ซึ่งใกล้กับจังหวัดภูเก็ต จะช่วยเสริมศูนย์กลางการบินเชื่อมเส้นทางระยะไกลในภาคใต้ของประเทศไทย โดยสนามบินทั้งสองแห่งนี้จะรองรับผู้โดยสารรวมกันได้สูงสุดถึง 40 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้ รัฐบาลมีแผนจะปรับปรุงการบริการสำหรับผู้มาเยือนทุกคนที่เดินทางผ่านสนามบินของไทย ได้แก่
– การปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานภาคพื้นดินและการลดระยะเวลารอผู้โดยสารขาเข้าและขาออก
– การขยายและจัดสรรเวลาจัดการการบินขึ้น-ลงใหม่ (landing and take-off slots) เพื่อให้เหมาะสมและสะดวกยิ่งขึ้นสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ
– การลดค่าธรรมเนียมการลงจอด (landing fees) และเพิ่มค่าธรรมเนียมการล่าช้า (delay fees) เพื่อเพิ่มมูลค่าการซื้อขายและรองรับเที่ยวบินได้มากขึ้
– การปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย ทั้งปฏิบัติการภาคพื้นดินและปฏิบัติการทางอากาศ
– การเพิ่มความถี่เที่ยวบินและเส้นทางใหม่สู่ประเทศไทย และอื่น ๆ อีกมากมาย
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ไทยจะเป็นผู้นำภูมิภาคในฐานะศูนย์กลางการบิน ด้วยการลงทุนขนาดใหญ่ในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบริการด้านต่าง ๆ
ด้านโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Landbridge Project) เป็นรากฐานสำคัญของการเชื่อมต่อทางทะเลในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ปัจจุบันเราเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมาก จากการพึ่งพาช่องแคบมะละกาเพียงอย่างเดียวในการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก โดยปัจจุบัน 25% ของสินค้าทั่วโลกผ่านช่องแคบดังกล่าว ซึ่งในแต่ละปี เรือจำนวน 90,000 ลำ ต้องแล่นผ่านเส้นทางน้ำที่คับคั่ง ส่งผลให้การจราจรเคลื่อนตัวได้ช้าและต้องเข้าคิวจำนวนมาก
ซึ่งภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์ ถนนและรถไฟความเร็วสูงจะเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง โดยตัดผ่านภาคใต้ของไทย และเป็นทางเลือกเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรทั้งสองแห่ง ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแต่มีความสำคัญจากมุมมองเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาการค้าการลงทุนของโลกและเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์โลก รัฐบาลจึงเชื่อมั่นว่า โครงการ Landbridge จะประสบความสำเร็จและสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีความเป็นกลาง พร้อมเปิดรับทุกภาคส่วนเสมอ
ด้านโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสีเขียว (Green Energy Infrastructure) โครงการและการลงทุนที่สำคัญส่วนใหญ่นับจากนี้ ล้วนต้องการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนในราคาที่เหมาะสมและเชื่อถือได้ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลงทุนจำนวนมากเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายของการมีพลังงานทดแทน 50% ของการผลิตภายในปี 2583 รวมทั้งไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศต้น ๆ ที่เปิดตัวโครงการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่ลงทุนในประเทศไทยมั่นใจได้ว่าจะสามารถเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนได้ในปีต่อ ๆ ไป
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า โครงการและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของไทย ไม่เพียงสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย แต่ยังรวมถึงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกันด้วย โดยเมื่อเกิดความร่วมมือกัน จะไม่ใช้เพียงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น รัฐบาลกำลังสร้างการเชื่อมต่อที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจและประชาชนเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ ขอให้ผู้เข้าร่วมทุกคน พิจารณาการมีส่วนร่วม เปลี่ยนวิสัยทัศน์เหล่านี้เป็นความจริง เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
งาน MIPIM 2024 เป็นงานมหกรรมอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับนานาชาติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 มีนาคม 2567 มีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการขนาดใหญ่กว่า 18,700 ตารางเมตร พร้อมด้วยการประชุมเชิงปฏิบัติการ การเสวนา และการพบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: