เบอร์ลิน – นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติภารกิจที่กรุงเบอร์ลินแต่เช้า ในการเยือนประเทศเยอรมนีอย่างเป็นทางการ เตรียมหารือ นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี และพบ 8 นักธุรกิจรายใหญ่ระดับโลก
วันที่ 13 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางถึง ท่าอากาศยานทหารของ ท่าอากาศยานเบอร์ลิน บรันเดินบวร์ค ฝั่งกองบินทหาร กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 (ตามเวลากรุงเบอร์ลิน ซึ่งช้ากว่าไทย 6 ชั่วโมง) เพื่อเยือนเยอรมนี อย่างเป็นทางการ ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย
โดยนายกฯ เผยแพร่ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
“เดินทางถึงกรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี แล้วครับ
เที่ยวนี่เป็นการเยือนอย่างเป็นทางการ โดยภารกิจจะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ วันนี้เลยต้องพักที่นี่ก่อน 1 คืน โดยผมจะได้พบหารือทวิภาคีกับ นายโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี รวมถึงมีกำหนดการพบนักธุรกิจรายใหญ่ระดับโลกของเยอรมนี 8 ราย พร้อมร่วมงานเลี้ยงรับรองประจำปีของ สมาคมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของเยอรมนี (BVMW) ด้วยครับ”
อย่างไรก็ตาม ภารกิจสุดท้ายที่ประเทศฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีได้ร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน Re-Invest Summit Lunch และกล่าวสุนทรพจน์ ณ โรงแรม Carlton Cannes เมืองคานส์ โดยสรุปว่า
รู้สึกยินดีที่ได้มาร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน พร้อมพบปะกับผู้นำรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ประกอบการจากทั่วโลก ที่มาร่วมงาน มหกรรมอสังหาริมทรัพย์ระดับนานาชาติ (MIPIM 2024) ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของโลก และนับเป็นโอกาสสำคัญ ที่จะได้แนะนำประเทศไทยในอีกแง่มุม นอกจากการเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำของโลก ที่มีทั้งชายหาดสวยงาม เมืองที่มีชีวิตสดใส และวัฒนธรรมอันสวยงาม หวังว่าผู้คนจากทั่วโลกจะพิจารณามาพักอาศัย ดำเนินธุรกิจ และขยายการลงทุนในไทยมากขึ้นด้วย
นายกฯ ยังกล่าวถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย รวมถึงวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาล ดังนี้
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก กรุงเทพมหานคร ติดอยู่ใน 10 เมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลกสำหรับชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้รับการยกย่อง ด้านระบบการรักษาพยาบาลที่ยอดเยี่ยม มีโรงเรียนนานาชาติชั้นนำมากมาย และมีราคาสมเหตุสมผล โดยผู้ที่สนใจการลงทุนและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรุงเทพฯ ติดอันดับ 1 ของโลกในดัชนีที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตกว่า 30% ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพมหาศาลในด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทย
รัฐบาลมุ่งเสริมสร้างความเป็นผู้นำในภูมิภาคให้ไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยกล่าวถึงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทยทั้ง 8 ด้าน ดังนี้
1.ศูนย์กลางการบิน ผ่านการก่อสร้างสนามบินใหม่ การยกระดับสนามบินที่มีอยู่ และการเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งและบริการ พร้อมมุ่งมั่นที่จะสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อผ่านแดน (transit) และศูนย์บำรุงรักษาหลักในภูมิภาค (maintenance center)
2.ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว รัฐบาลวางแผนที่จะยกระดับสถานะของไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก เสริมสร้างประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวผ่านวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทาง และวางตำแหน่งประเทศให้เป็น “โฮมสเตย์” ระดับโลกสำหรับนักเดินทางทั่วโลก
3.ศูนย์กลางด้านการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพ ด้วยการเสริมสร้างระบบการดูแลสุขภาพที่มีชื่อเสียงและการแพทย์แผนโบราณ พร้อมมุ่งมั่นที่จะเป็นจุดหมายปลายทางด้านการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมสำหรับผู้ป่วยต่างชาติ
4.ศูนย์กลางการเกษตรและอาหาร โดยเน้นย้ำบทบาทของประเทศไทยในฐานะ “ครัวโลก” ซึ่งไทยมุ่งมั่นที่จะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เข้าไปมีส่วนร่วมในความมั่นคงด้านอาหารของโลก และขับเคลื่อนนวัตกรรมในภาคอาหาร รวมถึงความก้าวหน้าในโปรตีนจากพืช และผลิตภัณฑ์ฮาลาล
5.ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค ผ่านการลงทุนที่สำคัญในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการขยายถนน ทางรถไฟ และการพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะอำนวยความสะดวกทางการค้าและทำให้ความสามารถด้านโลจิสติกส์ของไทยแข็งแกร่งขึ้น
6.ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์และ EV รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ วางแผนที่จะดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ให้มากขึ้น และสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศระบบรถยนต์ไฟฟ้าที่ครอบคลุม และพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต
7.ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเป้าหมายคือ การดึงดูดการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม และ AI พร้อมส่งเสริมบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยแรงจูงใจ และการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อขยายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ
8.ศูนย์กลางทางการเงิน ด้วยการส่งเสริมภาคการเงินที่แข็งแกร่งและมีนวัตกรรม ดึงดูดสถาบันการเงินระดับโลก และพัฒนาระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า วิสัยทัศน์เหล่านี้ไม่ใช่แค่ความฝันเท่านั้น แต่มีแผนและการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมรองรับ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่งกำลังดำเนินการอยู่ นอกจากนี้ ด้วยแรงจูงใจและการสนับสนุนที่ถูกต้องจากรัฐบาล ควบคู่ไปกับความร่วมมือและการลงทุนจากภาคเอกชน นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าจะสามารถเปลี่ยนวิสัยทัศน์เหล่านี้ให้กลายเป็นความจริงได้ พร้อมกล่าวย้ำว่า ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจอย่างเต็มที่ และไม่มีเวลาใดที่จะดีไปกว่านี้อีกแล้วในการลงทุนในประเทศไทย ‘Thailand is fully open for business, and there has never been a better time to invest in Thailand’
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: