เบอร์ลิน – นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก่อนแถลงข่าวร่วมกัน สถาปนาความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เดินหน้าความร่วมมือ ด้านพลังงานสะอาด-พลังงานทางเลือก ไฮโดรเจนสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย
วันที่ 13 มีนาคม 2567 (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงเบอร์ลิน ซึ่งช้ากว่าไทย 6 ชั่วโมง) ณทำเนียบนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ทางการสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จัดพิธีต้อนรับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ
โดยนายกรัฐมนตรี และนายโอลาฟ ชอล์ซ นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีร่วมเดินตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ก่อนหารือทวิภาคี และการแถลงข่าวร่วมกัน เมื่อเวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงเบอร์ลิน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ข่าวน่าสนใจ:
นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า เยอรมนีให้ความสำคัญความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน โดยความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้เป็นที่น่ายินดี ที่การค้าทวิภาคีระหว่างไทยและเยอรมนีเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20
เยอรมนี ยินดีจะพิจารณาสนับสนุนไทยในการเข้าร่วม OECD ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งเขื่อว่าจะช่วยพัฒนาความร่วมมือทางด้านการค้าการลงทุน และช่วยพัฒนาศักยภาพร่วมกัน
ด้านนายกรัฐมนตรีไทย กล่าวขอบคุณ นายกฯ เยอรมนี และภาคส่วนต่าง ๆ ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น การเยือนครั้งนี้ต่อยอดการเยือนไทยของประธานาธิบดีเยอรมนีเมื่อวันที่ 24-26 มกราคม 2567 ซึ่งระหว่างการเยือน ประธานาธิบดีคงได้เห็นถึงพัฒนาการด้านประชาธิปไตยและการธำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนของไทย
นายกฯ ยืนยันว่า ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความมั่นคงทางการเมืองเศรษฐกิจ และสังคมตามกระบวนการประชาธิปไตยที่ยึดกฎเกณฑ์ และสามารถคาดเดาได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เยอรมนีและพันธมิตรของไทยในโลก ซึ่งด้วยพัฒนาการนี้ ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยจะมีการหารือในรายละเอียดความร่วมมือต่อไปภายใต้กลไกการหารือทวิภาคีที่มีอยู่ โดยไทยเชื่อว่า ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ทั้งสองประเทศจะทวีความร่วมมือทวิภาคีที่ครอบคลุม ส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคกับอาเซียนและในอินโด-แปซิฟิก และส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อก้าวข้ามความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในโอกาสการหารือ ผู้นำทั้งสองยังได้ยืนยันความพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด การผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ลม น้ำ และไฮโดรเจนสีเขียว การส่งเสริมความร่วมมือด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทย การถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยี รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดย นายกฯ กล่าวให้ความเชื่อมั่นในการดูแลธุรกิจการลงทุนของเยอรมนีในภาคส่วนยานยนต์ดั้งเดิมที่มีเครื่องยนต์สันดาปและไฮบริดด้วย
นายกฯ เชิญให้เยอรมนีเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนตามวิสัยทัศน์ Ignite Thailand โดยเฉพาะโครงการ Landbridge การส่งเสริมการค้าการลงทุนผ่านการผลักดันความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป รวมทั้งการสนับสนุนไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) และการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนและการท่องเที่ยว ผ่านการผลักดันให้มีการเจรจาเพื่อยกเว้นตรวจลงตราเชงเกนสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทย
นอกจากนี้ นายกฯยังได้หารือในประเด็นอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายสนใจร่วมกัน อาทิ ความร่วมมือด้านแรงงาน อาชีวศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งความร่วมมือด้านการเกษตรยั่งยืน ตลอดจนประเด็นการเมืองความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยระหว่างการเยือนในครั้งนี้ นายกฯ ได้มีโอกาสพบหารือกับภาคเอกชนเยอรมนีที่สำคัญและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ต้อนรับภาคเอกชนเหล่านี้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยในโอกาสอันใกล้
นายกฯ ยังกล่าวขอบคุณ และหวังว่าจะได้ต้อนรับ นายกฯ เยอรมนี ในการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป เพื่อจะได้เห็นผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการหารือระหว่างกันในวันนี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: