กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายตำรวจ ย้ำ ต้องสามัคคี หยุดแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ขอทำงานเพื่อประชาชน ให้กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ความจริง พร้อมให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ส่วน ผบ.ตร.ได้กลับก่อนเกษียณหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลสอบ
วันที่ 21 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ระดับผู้บัญชาการ (ผบช.) ภายหลังมีคำสั่งให้ พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ช่วยราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมมอบหมายให้ พลตำรวจเอกกิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ภายหลังเกิดปัญหาขัดแย้งภายใน พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
โดยนายกรัฐมนตรี กำชับให้นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตั้งแต่ระดับพลตำรวจโท ถึงรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้มงวดในภารกิจดูแลพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องการพนันออนไลน์ ยาเสพติด มือปืน บ่อน เผาป่า การอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว การตรวจคนเข้าเมือง รวมทั้งกำชับเรื่องความสมัครสมานสามัคคี ไม่ให้ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ให้นำประชาชนเป็นที่ตั้ง
“ผมขอสั่งให้ยุติการให้ข่าว เกี่ยวกับเรื่องทั้ง 2 ท่าน เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปข้างหน้า เพื่อให้เกิดความถูกต้องและความเป็นธรรมกันทั้ง 2 ฝ่าย ใครที่เคยเข้าข้าง (take sides) เคยให้ข่าว ขอให้หยุด เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมได้ดำเนินการขึ้นแล้ว เชื่อว่าแต่ละคนก็มีความรักความชอบที่แตกต่างกัน แต่ขอให้เก็บไว้ในใจ ให้ทำงานเพื่อประชาชน และตำรวจไม่ได้มีหน้าที่ให้ข่าวสนับสนุนใคร จึงไม่ต้องการให้มีการก้าวก่ายหรือให้ข่าวเรื่องใด ๆ อีกต่อไปแล้ว และไม่ต้องการให้ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ทุกท่านยังฝักใฝ่เรื่องนี้ หากยังพูดถึงแต่เรื่องนี้ ประชาชนก็จะเดือดร้อน ตำรวจเองก็จะไม่ตั้งสมาธิกับการการทำงาน ดราม่าจบไปแล้ว อีกทั้งรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็มีภารกิจหลักอยู่ ซึ่งได้หารือนอกรอบกับพลตำรวจเอกกิตติ์รัฐแล้วว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง และช่วงบ่ายวันนี้ก็จะมีการลงรายละเอียดในเรื่องนโยบายต่อไป”
ข่าวน่าสนใจ:
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ที่ไมีคำสั่งให้ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ 2 นาย ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย มั่นใจว่าจะไม่มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ส่วนจะอยู่ในกรอบระยะเวลา 60 วันหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่หากสามารถดำเนินการได้รวดเร็วกว่านั้นก็จะดี
สำหรับผลทางวินัยและอาญาในภายหลัง จะมีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเช่นกัน หากไม่พบการกระทำความผิดก็สามารถกลับมาได้ แต่จะกลับมาก่อนเกษียณอายุราชการหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ และคงจะมีการชี้แจงในภายหลัง หวังว่าหลังจากนี้จะไม่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีก ยืนยันว่าไม่ใช่การสร้างภาพ ให้เวลาเป็นตัวพิสูจน์ว่า การกระทำเช่นนี้ จะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้หรือไม่ แต่คำสั่งดังกล่าวจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมหรือคลื่นใต้น้ำหรือไม่นั้น ไม่ทราบ
อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐายอมรับว่า การเซ็นคำสั่งดังกล่าว เป็นเรื่องที่ยาก และไม่สบายใจที่จะตัดสินใจ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: