กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี เผย นโยบายแจกเงินดิจิทัล ใช้งบฯ 5 แสนล้านบาท เป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง ย้ำ โปร่งใส ซื่อสัตย์ รอบคอบ ตรวจสอบได้ เปิดลงทะเบียนไตรมาส 3/67 ส่งเงินถึงมือประชาชนไตรมาส 4/67 ปรับเงื่อนไข คนทั่วไปใช้ได้เฉพาะร้านค้าขนาดเล็ก-ร้านสะดวกซื้อ ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก.
วันที่ 10 เมษายน 2567 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังทั้ง 2 คน คือ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ว่า
โครงการดังกล่าว เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุด ฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย รวมถึงรับฟังเสียงจากภาคส่วนต่าง ๆ จนมาถึงวันนี้ สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชน ส่งมอบพลิกชีวิตพี่น้องประชาชนได้ และที่สำคัญเป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ รวมทั้งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ประชาชนและร้านค้า จะลงทะเบียนได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ และเงินส่งตรงถึงประชาชนในไตรมาส 4 ปีนี้
ทั้งนี้ จะให้สิทธิประชาชน จำนวน 50 ล้านคน คิดเป็นจำนวนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด ซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 1.2-1.6 จากกรณีฐาน แต่ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการฯ
ข่าวน่าสนใจ:
อย่างไรก็ตาม ได้เปลี่ยนวิธีการกู้เงินมาใช้ในโครงการ โดยไม่ออกเป็นพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติแล้ว แต่จะมาจาก 3 แห่ง รวมถึงกู้เงินจาก ธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แทน ซึ่งรัฐบาลจะต้องตั้งงบประมาณในการใช้หนี้และดอกเบี้ย
“รัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยกระบวนการต่างๆ เป็นไปตามกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชนโดยรวม รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด” นายเศรษฐา กล่าวย้ำ
3 แหล่งเงิน รวม 5 แสนล้านบาท
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบายถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการ จำนวน 5 แสนล้านบาท ว่า จะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณ ปี 2567 และ 2568 ควบคู่กันไป ดังนี้
1.เงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
2.การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยใช้มาตรา 28 ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มที่เป็นเกษตรกร 17 ล้านคนเศษ ผ่านงบประมาณ 2568 ซึ่งอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส.สามารถทำได้ และสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. มีเพียงพอ
3.การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท หรือใช้งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มาใช้เพิ่มเติมได้ ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ ยืนยัน การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ส่วนเงินที่จะเข้ากระเป๋าประชาชน จำนวน 10,000 บาท จะเป็นการเข้าล็อตเดียวหรือทยอยจ่ายนั้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า เข้าล็อตเดียว แต่ต้องใช้ 2 รอบเป็นอย่างต่ำ เพื่อให้เกิดตัวคูณทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยรอบแรก ประชาชนใช้กับร้านค้าขนาดเล็ก จะเป็นร้านหน้าบ้าน ร้านก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น เมื่อใช้แล้วร้านค้าดังกล่าว ก็นำเงินไปซื้อสินค้าทุน กับร้านค้าอื่น ๆ ต่อไปอีกหนึ่งทอด จึงจะขึ้นเงินได้
เงื่อนไขร่วมโครงการ
ปชช.ใช้ได้กับร้านค้าขนาดเล็ก-ร้านสะดวกซื้อเท่านั้น
กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนประมาณ 50 ล้านคน อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
♦ การใช้จ่าย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็ก ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น คือ ร้านที่เป็นสะดวกซื้อลงมา เช่น เซเว่นอีเลฟเว่นในชุมชน สแตนด์อโลน รวมถึงร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน แต่ไม่รวม ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่
กลุ่มสอง การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอ และขนาดของร้านค้า
การใช้จ่ายเงิน สามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ส่วนตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า โดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
♦ ประเภทสินค้า
สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
♦ คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ
ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน
ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
♦ ใช้ Super App แทน เป๋าตัง
การใช้งาน จะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop โดย Super App ของรัฐบาล
♦ ช่วงเวลาการดำเนินโครงการ
ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
♦ การป้องกันการทุจริตของโครงการฯ
เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต คณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ
โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: