ไม่ว่าใกล้หรือไกลแค่ไหน เมื่อเปิดสวิตซ์ไฟ คุณก็จะได้รับแสงสว่าง นั่นคือการเดินทางอันน่าทึ่งของพลังงานไฟฟ้า โดยมีโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าเป็นส่วนสำคัญ ในการทำหน้าที่ส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไปสู่ผู้ใช้ไฟ เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของพลังงาน ที่เชื่อมโยงแหล่งพลังงานเพื่อส่งจ่ายให้แก่ทุกครัวเรือนได้มีไฟฟ้าใช้กันทั่วประเทศ ดังนั้น เพื่อให้เส้นเลือดใหญ่ของพลังงานสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ เราจึงต้องมีการตรวจเช็คสุขภาพระบบส่งเป็นประจำ เช่นเดียวกับร่างกายของคนเรา เพื่อเฝ้าระวังและรู้เท่าทันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
แน่นอนว่า ‘กันไว้ดีกว่าแก้’ ย่อมดีกว่าเสมอ โดยมีทีมช่างสาย หรือ ‘Hotline’ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับหน้าที่ตรวจสุขภาพให้แก่ระบบส่งไฟฟ้าและบำรุงรักษา ให้มีความพร้อมในการใช้งานอยู่ตลอดเวลา
กฟผ. ได้จัดทีม Hotline กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและบำรุงรักษาสายส่ง ให้มีความมั่นคงครอบคลุมทุกระดับแรงดันตั้งแต่ 115,000 230,000 และ 500,000 โวลต์ ความยาวรวมกว่า 39,000 วงจร-กิโลเมตร หรือเกือบเท่าระยะทางรอบโลก 1 รอบ ด้วยกลยุทธ์ ‘การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน’ (Preventive Maintenance) ซึ่งเป็นการวางแผนตรวจสอบ ซ่อมแซม หรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ทุกชิ้นส่วนอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้ จะต้องมีการสำรวจสิ่งรุกล้ำตามแนวเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า ‘Right of Way’ เพื่อให้สายส่ง สามารถส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้โดยปราศจากสิ่งรุกล้ำที่อาจจะก่อให้เกิดอันตราย หรือเกิดข้อขัดข้องในการส่งพลังงาน นั่นจึงทำให้การบำรุงรักษาเชิงป้องกันนั้นน่าทึ่งพอ ๆ กับการเดินทางของพลังงานไฟฟ้า ซึ่งพี่ ๆ ทีม Hotline มีวิธีการตรวจสอบถึง 6 รูปแบบ 1) การขับรถตรวจ (Vehicle Patrol) เป็นการขับรถตรวจสำรวจเฉพาะจุดที่มีความเสี่ยง เน้นใช้ตรวจสอบสิ่งที่อาจจะก่อให้เกิดความอันตรายจากสิ่งรุกล้ำภายนอก ที่อาจจะทำให้สายส่งขัดข้องได้ เช่น พื้นที่ที่มีต้นไม้โตเร็ว พื้นที่ที่มีกิจกรรมใต้แนวสายส่ง เป็นต้น
2)การเดินตรวจ (Site Inspection)เป็นการเดินตรวจสำรวจประชิดแนวสายส่งไฟฟ้า เพื่อตรวจสอบอุปกรณ์พร้อมแก้ไขได้ทันที
3) การปีนเสา (Climbing Inspection) ตรวจทุกส่วนของเสาส่งอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นจุดแขวนสายไฟ ลูกถ้วย นอต สายดิน ฯ พร้อมสามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้
4) การบินตรวจด้วยเฮลิคอปเตอร์ เป็นการบินตรวจตามแผนทำการบินในแต่ละปี เน้นสำรวจสิ่งรุกล้ำแนวเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Right of Way) ที่อาจจะส่งผลกระทบการจ่ายกระแสไฟฟ้า
5) อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) ช่วยในการค้นหาสาเหตุ และตรวจอุปกรณ์เฉพาะจุด
6) การตรวจจุดวิกฤติในสายส่ง ซึ่งเป็นจุดที่มีความเสี่ยงและยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างถาวร ทำให้ต้องมีการเข้าตรวจสอบพื้นที่เป็นประจำ
พี่ๆ ทีม Hotline เล่าอีกว่า การบำรุงรักษาเชิงป้องกันมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการดูแลตั้งแต่เนิ่น ๆ ย่อมดีกว่าเสมอ นอกจากจะช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆลดปัญหาความขัดข้องจากการพบจุดชำรุดและสามารถแก้ไขในเบื้องต้นได้ทันทีแล้วยังสามารถรักษาคุณภาพของการส่งจ่ายพลังงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงสามารถลดต้นทุนและรักษาสินทรัพย์อันมีค่าของรัฐได้อีกด้วย ทั้งนี้ในงานบำรุงรักษาสายส่งทุกขั้นตอนจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย โดยปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดและเป็นไปตามมาตรฐานสากลเพราะหากเกิดความผิดพลาดอาจทำให้ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ นอกเหนือจากที่ทีม Hotline ได้ทำหน้าที่การบำรุงรักษาระบบส่งให้มีความมั่นคง เชื่อถือได้ พร้อมส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้ตลอดเวลาแล้วเราทุกคนก็มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาระบบส่งด้วยการช่วยกันสอดส่องสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง รวมถึงไม่กระทำการใดๆก็ตามที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายกับระบบส่งไฟฟ้าด้วยนะครับเพียงเท่านี้เราทุกคนก็จะมีไฟฟ้าใช้กันอย่างไม่สะดุด เปิดปุ๊บติดปั๊บได้ตลอดเวลา ไม่เพียงแต่ระบบส่งไฟฟ้าที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าเท่านั้น การผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและการจัดหาเชื้อเพลิงให้เพียงพอสำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าก็ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงด้วยเช่นกัน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ เรื่องราวของระบบส่งไฟฟ้ายังไม่จบนะครับ ในตอนหน้า Unseen EGAT By ENGY จะพาไปลุยกันต่อถึงการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้พร้อมรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Grid Modernization) เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ติดตามกันให้ได้นะคร้าบบ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: