กกต.หวัง แก้ไขระเบียบบัตรเลือก สว.รอบเลือกไขว้ สกัดฮั้ว จัดชุดเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติหน้าที่ตลอดช่วงเลือก สถานที่เลือกห้ามบุคคลอื่นเข้า หรือสังเกตการณ์ในพื้นที่เลือก ส่วนนับคะแนนแยกนับตามสาย
ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็ว 216 ชุด เพื่อปฎิบัติหน้าที่ในการเลือก โดยทำหน้าที่ในช่วงตั้งแต่มี พระราชกฤษฎีกาการเลือก สว. รวมถึงในช่วงที่มีการเลือกในแต่ละระดับ
ทั้งนี้ ในสถานที่เลือก จะมีจุดตรวจบุคคลก่อนที่จะเข้าไป แม้แต่ผู้สมัครเอง ก็ไม่สามารถนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในช่วงการเลือกได้ สิ่งที่ผู้สมัครนำเข้าไปได้ มีเพียง 1.ใบ สว.3 หรือใบแนะนำตัว และ 2.หนังสือคู่มือที่ใช้ในการลงคะแนน เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น จะมีเจ้าหน้าที่อีก 2 ชุด รับผิดชอบในพื้นที่ คือ ชุดรักษาความสงบ และชุดรักษาความปลอดภัย
ข่าวน่าสนใจ:
เลขาธิการ กกต.นายแสวง บุญมี ระบุว่า ตามกฏหมาย ไม่สามารถให้บุคคลอื่นเข้าไปยังสถานที่เลือก หรือสังเกตการณ์ในพื้นที่การเลือกผู้สมัครได้ ทำได้เพียงสังเกตการณ์รอบนอก ตามที่ได้จัดพื้นที่เตรียมไว้ให้ ซึ่งทุกคนไม่ว่าประชาชนหรือกรรมาธิการชุดใด ก็มีสิทธิ์เท่าเทียมกัน
ส่วนปัญหาจากการที่ผู้สมัคร สว.จำนวน 2,020 คน ถูกตัดสิทธิ์ หรือ ไม่ได้รับการประกาศรับเลือกให้เป็นผู้สมัคร สว. กกต.อยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะทำให้การสมัครในแต่ละอำเภอ เหลือเพียงกลุ่มอาชีพเดียวหรือไม่
สำหรับการแก้ไขระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือก สว. เกี่ยวกับบัตรเลือกในรอบแบ่งสายเลือกไขว้นั้น เลขาธิการ กกต.ชี้แจงว่า กกต.เล็งเห็นถึงความสำคัญของคะแนนเสียงผู้สมัคร สว.ทุกคะแนนมีค่า เป็นการรักษาเจตจำนงของผู้ลงคะแนน ซึ่งผู้สมัครทุกคน เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกและมีสิทธิ์ได้รับเลือก โดยเฉพาะการเลือกไขว้ระดับประเทศ มีคะแนนมากถึง 10 คะแนน
ดังนั้น รูปแบบบัตรการเลือก และกฎหมายมาตรา 56 (6) กำหนดรูปแบบบัตรเสียไว้ว่า “ลักษณะบัตรเสีย หากไปเขียนชื่อผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับเลือก จะกลายเป็นบัตรเสียทั้งฉบับ” ทั้งที่ในช่องอื่นเป็นบัตรดีของคนอื่น บางคนแพ้ขชนะกันแค่ 1-2 คะแนน แต่หากเขียนผิด จะทำให้กลายเป็นบัตรเสียทั้งฉบับ จึงเป็นเหตุให้เสนอแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับบัตรเลือก สว. เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และเกิดความชัดเจนมากที่สุด เพื่อประโยชน์ของผู้สมัครและประชาชน
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขระเบียบดังกล่าว จะทำให้เกิดการฮั้วกันขึ้นหรือไม่ นายแสวง ระบุว่า ไม่สามารถพูดลอย ๆ ว่าฮั้วได้ จะต้องกล่าวให้ชัดเจนว่า เกิดการฮั้วเพราะอะไร หรือรูปแบบอะไรในการฮั้ว แต่หากถาม กกต. จะบอกว่า การแก้ไขจะทำให้เกิดการฮั้วยากกว่าเดิม
ขณะที่การนับคะแนน จะแยกนับตามสายที่ได้จับฉลาก เช่น หากสายใดมี 5 กลุ่ม จะนับทีละกลุ่ม กระดาษนับคะแนนก็จะทีละ 5 กระดาน ทุกคนที่อยู่ในสายจะได้เห็นคะแนนของตัวเอง และแสดงถึงความโปร่งใส ซึ่งประชาชนหรือผู้ที่อยู่ในที่นับคะแนนสามารถร่วมสังเกตการณ์ได้อย่างละเอียด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: