พลิกโฉมท่องเที่ยวเกาะสมุย สู่ Tourism Hub เดินหน้าเสริมความมั่นคงไฟฟ้า ด้วยระบบเคเบิลใต้ทะเล
ดร.กัมปนาท กลิ่นเสาวคนธ์ นายอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานเปิดงานสัมมนาสื่อมวลชนในหัวข้อ ‘พลิกโฉมท่องเที่ยวเกาะสมุย ลุยปักหมุดเพิ่มจุดพลังงานไฟฟ้าด้วยระบบเคเบิลใต้ทะเล’ จัดโดยสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โครงการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ทะเล ไปยังบริเวณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า
มีนายสุรเกียรติ ทองเกียรติ วิศวกรปฏิบัติการ สำนักงานพลังงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี, นายเกรียงไกร ปิยะธำรงชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า เพื่อรับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน-สถานีไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายธนา ตั้งสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งระบบเคบิลใต้ทะเล ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ดร.กัมปนาท กลิ่นเสาวคนธ์ นายอำเภอเกาะสมุย ระบุว่า เกาะสมุยเป็นหนึ่งในเกาะเศรษฐกิจที่สำคัญด้านท่องเที่ยวของประเทศ โดยเมื่อปี 2566 มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางมาเกาะสมุยเฉลี่ยปีละกว่า 3.5 ล้านคน สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 6 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ เตรียมผลักดันเกาะสมุยสู่การเป็น ‘Tourism Hub ฝั่งอ่าวไทย’ การยกระดับเกาะสมุย เป็น ‘เกาะระดับโลก’ จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเกาะสมุย ให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านคมนาคม ระบบไฟฟ้า ประปา และการจัดการขยะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว
โครงการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ทะเลขนาด 230 กิโลโวลต์ (kV) ขนอม-เกาะสมุย จะเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญ ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้เกาะสมุย รวมถึงเกาะเต่า และเกาะพะงัน ทำให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ไฟไม่ตกไม่ดับ นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและอยากมาลงทุนในเกาะสมุย รวมถึงรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ด้านนายสุรเกียรติ ทองเกียรติ วิศวกรปฏิบัติการ สำนักงานพลังงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่า ปี 2567 ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 3,143.8 เมกะวัตต์ (MW) เมื่อวันที่ 29 เม.ย.67 เวลา 20.47 น. เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 12.19 % สุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดของภาคใต้ รองลงมาคือ สงขลาและภูเก็ต
นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 เกาะสมุยและเกาะพะงัน มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 143 MW ขณะที่ระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงด้วยระบบเคเบิลใต้ทะเล ขนาดแรงดัน 115 kV และ 33 kV จำนวน 4 วงจร ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีความสามารถจ่ายไฟฟ้า 178.6 MW ซึ่งบางส่วนมีอายุการใช้งานนานและเริ่มชำรุด จึงคาดว่าภายในปี 2573 ระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงเดิมจะไม่สามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าได้อีก
ส่วนนายเกรียงไกร ปิยะธำรงชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน-สถานีไฟฟ้า กฟผ. เสริมว่า โครงการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ทะเล ไปยังบริเวณ อ.เกาะสมุย ขนาด 230 kV จากสถานีไฟฟ้าแรงสูงขนอม จ.นครศรีธรรมราช ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงเกาะสมุยแห่งใหม่ ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จำนวน 2 วงจร จะสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 200 MW
การออกแบบโครงการดังกล่าว กฟผ. ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล และคำนึงถึงความมั่นคงของระบบเคเบิลใต้ทะเล ซึ่งจะต้องไม่อยู่ในเส้นทางเดินเรือและบริเวณที่จอดเรือ ส่วนสายเคเบิลใต้ทะเลออกแบบให้สายตัวนำไฟฟ้า (Conductor) ทั้ง 3 เฟส และสาย Optic Fiber อยู่ในเส้นเดียวกัน ฝังไว้ในพื้นทรายใต้ทะเล ความลึกประมาณ 3-5 เมตร เพื่อความปลอดภัย รวมถึงเพิ่มเทคโนโลยี Online Sensor Monitoring เพื่อตรวจจับความผิดปกติ ที่อาจเกิดขึ้นกับระบบเคเบิลอีกด้วย
ปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2572
ขณะที่ นายธนา ตั้งสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งระบบเคบิลใต้ทะเล ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการวางระบบเคเบิลใต้ทะเลอยู่หลายจุด เพื่อเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าไปยังเกาะต่าง ๆ ซึ่งการติดตั้งจะคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ตั้งแต่การเลือกเส้นทางวางสายเคเบิลส่วนใหญ่ ที่ไม่พาดผ่านแนวปะการังและหญ้าทะเล
ติดตามตรวจสอบการแพร่กระจายของตะกอน ขณะติดตั้งฝังสายเคเบิลตลอดเวลา แม้ปริมาณตะกอนที่เกิดจากการวางสายเคเบิลจะมีค่อนข้างน้อย และได้รับผลกระทบในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่หากพบว่าเกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนมากขึ้น จนทำให้น้ำขุ่นกระทบต่อระบบนิเวศ ก็จะหยุดดำเนินการฝังสายเคเบิลชั่วคราว และเริ่มดำเนินการฝังสายเคเบิลใหม่เมื่อตะกอนแขวนลดน้อยลง หรือใช้ม่านกันตะกอนเข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ การวางสายเคเบิลใต้ทะเล ยังไม่มีผลกระทบต่อเส้นทางการเดินเรือของนักท่องเที่ยว เพราะเป็นการติดตั้งในพื้นที่จำกัด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: