X

Unseen EGAT by ENGY ตอน ‘ขุมพลัง’ ขับเคลื่อนความมั่นคงพลังงาน

ขณะที่ประเทศไทยกำลังเร่งหานวัตกรรมที่จะช่วยให้พลังงานหมุนเวียนมีศักยภาพเพียงพอที่จะพึ่งพาเป็นพลังงานหลักเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ พลังงานจากฟอสซิลยังคงเป็น ‘ขุมพลังงาน’ สำคัญที่จะมองข้ามไปไม่ได้ การจัดหาเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่อยู่เบื้องหลังระบบไฟฟ้าที่มั่นคงของประเทศ

เลือกใช้เชื้อเพลิงต้องมองอย่างรอบด้าน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการผลิตไฟฟ้า ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ มีการบริหารจัดการด้านเชื้อเพลิงภายใต้บริบทต่างๆ โดยพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อให้สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. มีความหลากหลาย ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พลังงานหมุนเวียน น้ำมัน และอื่นๆ

โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาในการเลือกใช้เชื้อเพลิง ได้แก่ ต้องมีราคาที่เหมาะสม เชื้อเพลิงและที่ตั้งของโรงไฟฟ้าต้องมีความเหมาะสม เพื่อให้การขนส่งเชื้อเพลิงมีความสะดวกและเข้าถึงโรงไฟฟ้าได้ง่าย ,เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้เชื้อเพลิงน้อยแต่ให้ค่าพลังงานสูง ตลอดจนคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ มีคุณภาพที่ดี มีราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม ควบคู่ไปกับมีสิ่งแวดล้อมที่ดี

‘ก๊าซธรรมชาติ’ ยืนหนึ่งเพื่อความมั่นคงพลังงาน
กว่าร้อยละ 60 ของการผลิตไฟฟ้าในประเทศ ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ มาจากอ่าวไทย แหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA–A18) แหล่งก๊าซเมียนมา ที่ส่งมาประเทศไทยผ่านทางท่อส่งก๊าซ ก๊าซธรรมชาติบนบกจากแหล่งน้ำพองและสินภูฮ่อม รวมถึงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ ผ่านทางเรือ

ซึ่ง กฟผ. ได้รับใบอนุญาตเป็น Shipper รายที่ 2 ของประเทศ นำเข้า LNG ทำให้สามารถช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าได้บางส่วน ปัจจุบัน กฟผ. มีการนำเข้า LNG สัญญาระยะสั้น ในปริมาณไม่เกิน 1.2 ล้านตันต่อปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2566-2570 เพื่อนำไปใช้ที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 1

และสำหรับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ พระนครเหนือ วังน้อย จะนะ น้ำพอง และบางปะกงชุดอื่นๆ กฟผ. ได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะยาว กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำให้มีเชื้อเพลิงเพียงพอในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องมั่นคง นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้สำรองน้ำมันดีเซลไว้รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน หากไม่สามารถเดินเครื่องด้วยก๊าซธรรมชาติได้

‘ถ่านหิน’ ฮีโร่ข้ามผ่านวิกฤตพลังงาน
‘ถ่านหิน’ อีกหนึ่งเชื้อเพลิงที่สำคัญ เพราะประเทศไทยยังพึ่งพาการใช้ถ่านหินประมาณร้อยละ 15 ของการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ด้วยเป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนต่ำ และสามารถจัดหาได้ในประเทศ ถ่านหินจึงเป็นฮีโร่สำคัญที่ช่วยพยุงราคาค่าไฟให้ประชาชน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตราคาพลังงานที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันพุ่งสูง เป็นอีกครั้งที่ถ่านหินช่วยพาประเทศไทยข้ามผ่านวิกฤตพลังงาน กฟผ. ได้ชุบชีวิตปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 ที่ปลดออกจากระบบผลิตไฟฟ้าให้กลับมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง และเลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ออกไป เพื่อรวมพลังกันผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงราคาต่ำ ทำให้ลดการนำเข้าเชื้อเพลิง LNG ราคาแพงจากต่างประเทศ ช่วยบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งใช้ลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิง ได้มีการพัฒนานำเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัย มีมาตรการตรวจสอบและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน จึงทำให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แสวงหาเชื้อเพลิงแห่งอนาคตเพื่อความยั่งยืน
กฟผ. ยังได้ศึกษาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเป็นขุมพลังงานในอนาคต ‘ไฮโดรเจน’ เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่สามารถผลิตหรือสังเคราะห์ได้จากวัตถุดิบตามธรรมชาติที่หลากหลาย เมื่อเกิดการเผาไหม้ จะได้เป็นน้ำและออกซิเจน จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศสามารถเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality)  และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้ตามเป้าหมาย

กฟผ. ได้พัฒนา ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ จากพลังลมผ่านกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) เพื่อนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าผ่าน Fuel Cell ในช่วงเวลาที่เหมาะสม  ตลอดจนศึกษา ‘ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน’ ที่ผลิตได้จากถ่านหินที่นำมาแปรสภาพเป็นก๊าซด้วยวิธี Coal Gasification ควบคู่การใช้เทคโนโลยีดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization & Storage: CCUS) เพื่อให้ได้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่สะอาด โดยมีแผนนำไฮโดรเจนไปผสมกับก๊าซธรรมชาติ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตไฟฟ้าในอนาคต

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาและเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการพัฒนา โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) ซึ่งเป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดที่น่าสนใจ และมีศักยภาพเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต

การบริหารจัดการเชื้อเพลิงเพื่อให้เป็น ‘ขุมพลัง’ สร้างความมั่นคงทางพลังงาน นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ กฟผ. ให้ความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการดูแล ‘โรงไฟฟ้า’ ให้มีความพร้อมเดินเครื่องจ่ายไฟรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าให้เพียงพอตลอดเวลา และ ‘ระบบส่งไฟฟ้า’ ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ ให้สามารถส่งจ่ายไฟฟ้าให้ประชาชนเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ “พลังงานไฟฟ้า” ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนการดำเนินชีวิต สร้างความสุขของทุกคน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"