ไม่เพียงปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ทำให้เทรนด์พลังงานโลก ต่างเบนเข็มมาที่ ‘พลังงานหมุนเวียน(Renewable Energy)’ แต่ราคาของโซลาร์เซลล์ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุ ที่ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นเรื่องที่จับต้องได้ รวมทั้งแผน PDP 2024 ที่กำลังจะประกาศใช้เร็ว ๆ นี้ กำหนดให้มีพลังงานหมุนเวียนมากถึงกว่า 50 %
เหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยเร่งให้การเปลี่ยนผ่านการผลิตไฟฟ้าของประเทศ จากพลังงานฟอสซิล สู่พลังงานหมุนเวียน มาถึงเร็วกว่าที่คาด โจทย์สำคัญของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ. ในฐานะผู้ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ คือ จะรับมือกับความไม่เสถียรของพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้นนี้อย่างไร
ศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center: REFC) และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center : DRCC) คือ เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีความพร้อม รองรับความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนและยังช่วยให้การวางแผน บริหารจัดการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าหลักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รู้ล่วงหน้า มีพลังงานหมุนเวียนมาจากแหล่งไหนและในช่วงเวลาใด
‘REFC’ ศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะมาช่วยทำสิ่งที่ไม่แน่นอนให้แน่นอนมากยิ่งขึ้น โดยทำหน้าที่พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer : SPP) จากการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆทั้งข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลด้านเทคนิคโรงไฟฟ้า ข้อมูลทางสถิติ เพื่อประมวลและวิเคราะห์ผล ซึ่งสามารถพยากรณ์ได้ 2 รูปแบบ ประกอบด้วย
รูปแบบ Day Ahead เป็นการพยากรณ์วันละ 1 ครั้ง ล่วงหน้าได้ 10 วัน เพื่อใช้ในการวางแผนผลิตไฟฟ้า ร่วมกับ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่นทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง อีกรูปแบบหนึ่ง คือIntraday ซึ่งระบบจะพยากรณ์ทุก ๆ 1 ชั่วโมง ล่วงหน้าได้ 6 ชั่วโมง ซึ่งข้อมูลการพยากรณ์ดังกล่าว มีความใกล้เคียงกับศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามจริงมากที่สุด จึงเป็นข้อมูลที่ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า (System Operator : SO) สามารถนำไปใช้ประกอบการสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าได้แบบ Real Time ทั้งยังเตรียมพร้อมเดินเครื่องโรงไฟฟ้าหลักมารองรับได้ทัน หากเกิดกรณีพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้
รักษาสมดุลการใช้และการผลิตไฟฟ้า
‘DRCC’ ศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด จะมาช่วยรักษาสมดุลและสร้างเสถียรภาพให้ระบบไฟฟ้า โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการควบคุมการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า หรือลดโหลดในสถานการณ์ที่เชื้อเพลิงมีราคาสูง หรือช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) เนื่องจากการเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการเร่งกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าหลัก ทั้งยังต้องใช้เชื้อเพลิงมากขึ้น ซึ่งหมายถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้นส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
โดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะทำหน้าที่รวบรวมปริมาณการใช้ไฟฟ้า (Load Aggregator) ของผู้ใช้ไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ส่งให้ DRCC ทำการวิเคราะห์และสั่งลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการใช้ไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยเสริมให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงมากขึ้น
พลังงานหมุนเวียน แม้จะเป็นพลังงานสะอาด เป็นความหวังในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) แต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ยังมีความไม่แน่นอนไม่สามารถผลิตได้ตลอดเวลา การรับมือกับความไม่เสถียรของพลังงานหมุนเวียน จึงต้องพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้ทันสมัย (Grid Modernization) พร้อมรองรับความไม่เสถียรของพลังงานหมุนเวียน REFC และ DRCC เป็นหนึ่งในเทคโนโลยี Grid Modernization ที่จะช่วยให้เรารู้ศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้าหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการสำรองเชื้อเพลิงและการเดินเครื่อง รวมทั้งรักษาสมดุลระหว่างการใช้และการผลิตไฟฟ้าให้มีความเหมาะสม
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคง ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอทุกช่วงเวลา ในราคาที่เหมาะสม เรื่องราวของ Grid Modernization ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ในตอนหน้าUnseen EGAT By ENGY จะพาไปพบกับระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage System : ESS อีกหนึ่งตัวช่วยในการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ติดตามกันให้ได้นะคร้าบบ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: